สารสนเทศทางธุรกิจ
สารสนเทศ
(Information) หมายถึง ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ข้อเท็จจริงความคิด ประสบการณ์
รวมถึงจินตนาการของมนุษย์ ที่มีการจัดการบันทึกลงในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์
และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการสื่อสารและการตัดสินใจ
จากความหมายดังกล่าว จะเห็นว่าสารสนเทศมีความสัมพันธ์กับ ข้อมูล ข่าวสาร
และความรู้ ซึ่งในทางธุรกิจแล้วสารสนเทศมีความสำคัญที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจสูงมาก
เนื่องจากการตัดสินใจทางธุรกิจในภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม
และเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง เรียกว่ายุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Base Economics) เป็นยุคของความไวและมีความเสี่ยงสูง การตัดสินใจใดๆ
ทางธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงและเพื่อให้ได้เปรียบทางการแข่งขันก่อนคู่แข่ง
จึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ข้อมูล (Data) สารสนเทศ (Information)
และความรู้ (Knowledge) สูงสุดคือปัญญา (Wisdom) ซึ่งก็คือความสามารถขององค์การนั่นเอง เขียนเป็นแผนภูมิ ได้ดังนี้
ข้อมูล คือ การเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน
โดยที่ยังไม่มีการประมวลผล ซึ่งอาจอยู่ในรูปของตัวเลข ตัวอักษร ข้อความ รูปภาพ
หรือเสียง ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการปรุงแต่งนี้เรียกว่า ข้อมูลดิบ (Raw
Data) เป็นข้อมูลที่ปราศจากบริบทและความหมายใดๆ เช่น
ข้อมูลปริมาณสินค้าคงคลัง ข้อมูลรายชื่อลูกค้า ข้อมูลปริมาณการผลิตต่อเดือน
เป็นต้น
สารสนเทศ
คือ การนำข้อมูลที่รวบรวมมาได้มาประมวลผล จัดการให้ถูกต้อง ทันสมัย
และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ซึ่งข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้วนี้จะเต็มไปด้วยบริบทและความหมาย
เช่น แผนการผลิตสินค้าสินค้า ซึ่งเป็นสารสนเทศที่ได้ประมวลผลมาจากความต้องการของลูกค้ารายเดิม
แนวโน้มความต้องการของลูกค้ารายใหม่ สินค้าคงคลัง คู่แข่ง ต้นทุนการผลิต
และประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น
ความรู้
คือ สารสนเทศที่ผ่านการตีความหมาย การทำความเข้าใจ และนำไปใช้ในการแก้ปัญหาและตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ในการเรียนรู้วิธีเลือกสารสนเทศมาใช้ในการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
ปัญญา
คือ ความชำนาญ (Expert) และความสามรถ (Capability) ที่ได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์จนเกิดความชำนาญ
และกลายเป็นความสามารถของบุคคลและองค์การ
ส่วนมากอยู่ในรูปของความรู้ฝังลึกหรือความรู้โดยนัย (Tacit Knowledge) และบางส่วนถูกถ่ายทอดออกมาจัดเก็บไว้ในรูปเอกสาร
และสื่อชนิดต่างๆเรียกว่า ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) องค์การใดสามารถบริหารจัดการความรู้ขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์การนั้นจะมีขุมทรัพย์ความรู้ (Treasure of knowledge) ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างทันท่วงที
นั่นย่อมหมายถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงความรู้ที่อยู่ในบุคคล (Personal
Knowledge) ให้กลายเป็นความรู้ขององค์การ (Organizational
Knowledge)
สารสนเทศทางธุรกิจ (Business
Information) หมายถึง ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้
และข้อเท็จจริงทางธุรกิจ นำมาประมวลผลเพื่อใช้แก้ปัญหาและตัดสินใจทางธุรกิจ
ซึ่งสารสนเทศทางธุรกิจ จำแนกเป็น 4
ประเภท ดังนี้ (มานิตย์ บุญช่วยและคณะ. 2546)
1. สารสนเทศการดำเนินงาน คือ
ข้อมูลข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานธุรกิจ
ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นเป็นปกติ
การใช้ประโยชน์จากสารสนเทศเหล่านี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์
ของนักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการ
2. สารสนเทศเกี่ยวกับลูกค้า ซึ่งแบ่งเป็น
2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นสารสนเทศการซื้อขาย การขำระเงิน และข้อมูลทั่วไปของลูกค้า และส่วนที่สองเป็นสารสนเทศเกี่ยวกับพฤติกรรมและธุรกิจของลูกค้า
3. สารสนเทศเกี่ยวกับคู่แข่งและลูกค้า
การดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีสารสนเทศด้านต่างๆของคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้รู้เขารู้เรา
มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของเราอย่างไรธุรกิจเราจะดำเนินการโต้ตอบอย่างไร
4. สารสนเทศด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
ปัจจุบันธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายนอกมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของเราอย่างไร
หน่วยงานธุรกิจจึงต้องมีสารสนเทศเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจภายนอกในวงกว้างด้วย
นอกจากนี้แล้ว
สุทธินันท์ พรหมสุวรรณ. (2540)
ได้แบ่งประเภทของสารสนเทศที่นักธุรกิจใช้ประโยชน์ในการบริหารธุรกิจ เป็น 2 ประเภท
คือ
1. สารสนเทศเกี่ยวกับปัจจัยภายในองค์การได้แก่สารสนเทศเกี่ยวกับโครงสร้างองค์การนโยบายและแผน
ระบบระเบียบวิธีปฏิบัติงาน ทรัพยากรการบริหาร ปัจจัยการผลิต บรรยากาศในการทำงาน
และวัฒนธรรมองค์กร
ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการสามารถสังเกตได้จากสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร
และมีประโยชน์ชี้ให้ผู้ประกอบการเห็นจุดแข็งขององค์กร
โดยพิจารณาจากความแตกต่างที่องค์กรมีเหมือนคู่แข่ง หรือโดดเด่นในระบบของธุรกิจ
ซึ่งจะทำให้มีผลทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้อย่างมั่นคง
และสามารถกำหนดทิศทางได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเห็นจุดอ่อนขององค์กร
ซึ่งจะทำให้องค์กรไม่เสียโอกาสของการเติบโตในระบบธุรกิจ
2. สารสนเทศเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกองค์กร
ได้แก่ สารสนเทศเกี่ยวกับเหตุการณ์และสภาพปัจจัยต่างๆ ที่แวดล้อมอยู่ภายนอกองค์กร
ซึ่งมีอิทธิพลต่อกิจกรรมและปัจจัยทั้งหลายภายในองค์กร
โดยที่การดำเนินธุรกิจไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัจจัยภายนอกองค์การได้
ผลกระทบเหล่านี้จะเป็นผลดี และผลเสียในเวลาเดียวกัน
ผู้ประกอบการสามารถนำผลดีมาปฏิบัติ และนำผลเสียมาวิเคราะห์ปรับปรุง
และหาแนวทางแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้องค์การเห็นแนวทางที่จะก้าวในอนาคต
สารสนเทศภายนอกองค์กร หมายถึง
สารสนเทศเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกองค์กร จำแนกเป็น 2 ประเทศ ดังต่อไปนี้ (จินตนา
บุญบงการ. 2538 ; ศิริวรรณ เสรีรัตน์. และคณะ.
2542)
สารสนเทศเกี่ยวกับปัจจัยด้านการดำเนินงาน
หมายถึง สารสนเทศเกี่ยวกับปัจจัยภายนอก
องค์กร
ซึ่งมีอิทธิพลโดยตรงต่อองค์กร มีดังนี้
2.1 ลูกค้า
หมายถึง คุณลักษณะ และพฤติกรรมของหน่วยงานหรือบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือ
บริการที่ผลิตโดยองค์กร
ซึ่งความสำคัญเพราะว่า
จะช่วยสร้างแนวความคิดในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อสร้างการยอมรับจากลูกค้า
และเพื่อรักษาลูกค้าไว้
2.2 คู่แข่งขัน
หมายถึง หน่วยงานหรือบุคคลที่อยู่ในองค์การอื่น ซึ่งเสนอสินค้าหรือบริการ
ให้ลุกค้ากลุ่มเดียวกัน
หรือใช้แหล่งการผลิตที่เป็นจำพวกเดียวกันกับองค์การใช้อยู่
ผู้บริหารจะต้องดำเนินการในทุเรื่องทู่แข่งขันกำลังดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นของราคา
การพัฒนาผลผลิต การให้บริการลูกค้า หรือแหล่งวัตถุดิบ เป็นต้น
2.3 ปัจจัยการผลิต
หมายถึง ทรัพยากรสำหรับป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือบริการ
องค์การจะต้องมีแหล่งที่ส่งทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอ
2.4 แรงงาน
หมายถึง บุคคลที่มีความพร้อมจะให้ว่างจ้างไปทำงาน ซึ่งทักษะ ค่าจ้าง และ
อายุโดยเฉลี่ยของแรงงานจะมีความสำคัญต่อการดำเนินงานขององค์การ
และตลาดแรงงานจะมีผลกระทบต่อการบริหารงานขององค์การ
2.5 กฎระเบียบ
หมายถึง กฎระเบียบต่างๆ รวมทั้ง หน่วยงานรัฐบาล เจ้าหน้าที่ และ
ผู้ชำนาญการพิเศษที่จะสร้าง
บังคับใช้แนวทางควบคุมทางกฎหมาย หรือนโยบายที่มีผลต่อกิจกรรมขององค์การ แม้ว่าปัจจัยทางการเมืองจะเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยภายนอกองค์การโดยทั่วไป
แต่กฎระเบียบต่างๆ
ที่นักการเมืองออกมาใช้บังคับองค์การจัดเป็นปัจจัยด้านการดำเนินงานด้วย
เพราะกฎระเบียบเหล่านี้จะมี่ผลโดยตรงต่อการตัดสินใจปฏิบัติตามอันมีผลทันที่ต่อการดำเนินการขององค์การ
2.6 หุ้นส่วน
หมายถึง องค์การที่ดำเนินธุรกิจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็น
ทางการจะส่งเสริมซึ่งกันและกันให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. สารสนเทศเกี่ยวกับปัจจัยโดยทั่วไป
หมายถึง สารสนเทศเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกองค์การซึ่ง
จะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจในระยะยาวขององค์การ
สารสนเทศบางเรื่องจะมีผลโดยตรงกับการดำเนินงาน สารสนเทศเกี่ยวกับปัจจัยทั่วไป
มีดังนี้
3.1 เศรษฐกิจ
หมายถึง ทรัพยากรที่มีอยู่หรือขาดแคลน และแนวโน้มทั่วๆ ไปของก
เศรษฐกิจที่มีผลต่อองค์การ
เช่นงบประมาณของรัฐ รายได้ประชาชาติ ดุลการค้ากับต่างประเทศ
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย อัตราการว่างงาน
ภาวะการค้าและการผลิตทางอุตสาหกรรม และตลาดหุ้น เป็นต้น
3.2 การเมืองและกฎหมาย
หมายถึง รัฐบาล นโยบายทางการเมือง กฎหมาย และ สภาบัน
ในระดับชาติ
ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น รวมไปจนถึงระเบียบข้อบังคับ ภาษีอาการ
การตัดสินใจทางกฎหมาย และนโยบายของพรรคการเมือง
อิทธิพลทางการเมืองมีผลต่อบรรยากาศขององค์การธุรกิจโดยเป็นตัวช่วยและส่งเสริมกิจการที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศไปตามนโยบายการเมืองของรัฐบาลในสมัยนั้น
เช่น เมื่อประเทศไทยส่งเสริมการพัฒนาประเทศในแง่การลงทุนธุรกิจ
รัฐบาลก็จัดตั้งให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
มีการลดหน่อยภาษีการนำเข้าของเครื่องมือเครื่องจักร และวัตถุดิบ และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ
ที่เอื้อต่อการนี้
3.3 เทคโนโลยี
หมายถึง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น การเกิดผลิตภัณฑ์การะ
บวนการ
และวัสดุ รวมทั้ง วิธีการทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ
ซึ่งองค์การสามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบ กระบวนการ และเครื่องมือการผลิตสินค้าหรือบริการให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
3.4 สังคม
หมายถึง การศึกษา ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และ
คุณลักษณะทางประชากร
เช่น เพศ อายุ ระดับการศึกษา เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมของบุคคล
และมีอิทธิพลต่อความปรารถนาของบุคคลที่องค์การธุรกิจต่างๆ
จะต้องพยายามผลิตสินค้าหรือบริการมาตอบสนองแก่สังคม
คุณสมบัติของสารสนเทศทางธุรกิจ
การเลือกใช้สารสนเทศทางธุรกิจผู้บริหารควรพิจารณาถึงคุณสมบัติที่ดีของสารสนเทศทางธุรกิจที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจ
ซึ่งคุณสมบัติที่ดีของสารสนเทศทางธุรกิจ เป็นดังนี้ (จีราภรณ์ รักษาแก้ว. 2539)
1.
ถูกต้อง (Accuracy) สารสนเทศที่ดีต้องมีความถูกต้อง
และปราศจาก ความผิดพลาด
ความคลาดเคลื่อน
อคติ และสามารถพิสูจน์ได้
2. สมบูรณ์ (Comprehensive) สารสนเทศที่ดีควรมีความสมบูรณ์ในตัวเอง
ไม่ต้องไปค้นหาเพิ่มเติมจากแหล่งผลิตสารสนเทศอื่นๆ
3. ทันเวลา (Timeliness) สารสนเทศที่ดีต้องได้รับทันต่อการใช้งาน การได้รับสารสนเทศล่าช้า
ทำให้สารสนเทศนั้นมีประโยชน์น้อยลง หรืออาจไม่เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานเลย
4. เหมาะสม (Appropriateness) สารสนเทศที่ดีควรจะสนองตอบผู้ใช้ได้ตรงตามความต้องการของบุคคลนั้น
5. ชัดเจน (Clarity) สารสนเทศที่มีคุฤณภาพควรปราศจากความคลุมเครือ
สามารถทำความเข้าใจง่าย ไม่ต้องอาศัยการตีคาม หรือหาคำตอบเพิ่มเติม
สรุปว่า
สารสนเทศเทศทางธุรกิจ หมายถึง ข้อมูลข่าวสาร ความรู้
ข้อเท็จจริงที่ประมวลขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาและตัดสินใจทางธุรกิจ แบ่งเป็น
สารสนเทศภายในองค์การ และสารสนเทศภายนอกองค์การ เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ
ลูกค้า คู่แข่ง ปัจจัยการผลิต แรงงาน
กฎระเบียบ หุ้นส่วน และสารสเทศเกี่ยวกับปัจจัยทั่วไป ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม
การเมือง และเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งการเลือกใช้สารสนเทศทางธุรกิจจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของสารสนเทศทางธุรกิจ
ประกอบด้วย ความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ทันเวลา มีความเหมาะสม และชัดเจน
ความหมายและลักษณะของการตัดสินใจ
การวิจัยธุรกิจ
เป็นกิจกรรมการค้นหาคำตอบที่เชื่อถือได้โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ
ได้แก่ การผลิต การตลาด การเงิน การบัญชี พฤติกรรมผู้บริโภค
ความสามารถทางการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
โดยมีเป้าหมายเพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ
จึงควรทำความเข้าใจกับกระบวนการตัดสินใจ ดังนี้
ความหมายของการตัดสินใจ
มีผู้ให้ความหมายของการตัดสินใจ
ไว้ดังนี้
ระพีพรรณ
พิริยะกุล. (2550)
ให้ความหมายของการตัดสินใจ (Decision making) ว่า หมายถึง การพิจารณาตกลงใจชี้ขาดในการเลือกทางเลือก (Alternative) ใดทางเลือกหนึ่งที่มีอยู่มากกว่าหนึ่งทางเลือก
ในการจะดำเนินกิจกรรมของตนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการโดยต้องอยู่บนบรรทัดฐานที่ว่าทางที่เลือกนั้นมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้มากที่สุด (หรือมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวต่ำที่สุด)
โดยมีการพิจารณาเลือก และตรวจสอบทางเลือกนั้นอย่างรอบคอบแล้ว
สมคิด บางโม. (2548) ให้ความหมาย การตัดสินใจ
ว่าหมายถึง
การตัดสินใจเลือกทางปฏิบัติซึ่งมีหลายทางเป็นแนวปฏิบัติไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ การตัดสินใจนี้อาจเป็นการตัดสินใจที่จะกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ในทางปฏิบัติการตัดสินใจมักเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนและมีวิธีการแก้ปัญหาให้วินิจฉัยมากกว่าหนึ่งทางเสมอ
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้วินิจฉัยปัญหาว่าจะเลือกสั่งการวิธีปฏิบัติโดยวิธีใดจึงจะบรรลุเป้าหมายอย่างดีที่สุดและบังเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อองค์การนั้น
Business Dictionary. (2013) ให้คำนิยาม การตัดสินใจ ว่า
หมายถึง วิธีการสำหรับการเลือกระบบระหว่างตัวเลือกที่เป็นไปได้ที่จะขึ้นอยู่กับเหตุผลและข้อเท็จจริงในกระบวนการที่มีเหตุผลในการตัดสินใจ
ผู้บริหารองค์การธุรกิจมักจะจ้างนักวิเคราะห์เพื่อทบทวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและผลลัพธ์ที่เป็นไปก่อนที่จะเลือกตัดสินใจกระทำการใดใด
จากความหมายดังกล่าว สรุปว่า
การตัดสินใจ หมายถึง วิธีการตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง
ที่ผู้ตัดสินใจจะเป็นผู้วินิจฉัยเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดและเกิดผลดีต่อองค์การมากที่สุด
ลักษณะของการตัดสินใจ
การวิจัยธุรกิจเป็นการวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ
ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตัดสินใจ ซึ่ง Loomba. (1978) กล่าวว่า การตัดสิการตัดสินใจมีลักษณะ
ดังนี้
1. การตัดสินใจเป็นกระบวนการของการเปรียบเทียบผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่จะได้
รับจากทางเลือกหลาย ๆ ทาง โดยที่ผู้ตัดสินใจจะเลือกทางเลือกที่ให้ประโยชน์สูงสุด
2. การตัดสินใจเป็นหน้าที่ที่จำเป็น
เพราะทรัพยากรมีจำกัด และมนุษย์มีความต้องการไม่จำกัด
จึงจำเป็นต้องมีการตัดสินใจเพื่อให้ได้รับประโยชน์และความพอใจจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การ
3. ในการปฏิบัติงานของฝ่ายต่าง ๆ
ในองค์การ อาจมีการขัดแย้งกัน เช่น ฝ่ายผลิต ฝ่ายบุคคล ฝ่ายการเงินการบัญชี
ฝ่ายการบริหารงานบุคคล แต่ละฝ่ายอาจมีเป้าหมายของการทำงานขัดแย้งกัน
ผู้บริหารจึงต้องเป็นผู้ตัดสินใจชี้ขาด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์การโดยส่วนรวม
4.
กระบวนการตัดสินใจประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
ส่วนแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ข้อจำกัด
การกำหนดทางเลือก ส่วนที่สอง
เป็นการเลือกทางเลือกหรือกลยุทธ์ที่ดีที่สุดตามสภาวการณ์
5. การตัดสินใจมีหลายรูปแบบ
ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายและลักษณะของปัญหา เช่น
อาจแบ่งออกได้เป็นการตัดสินใจตามลำดับขั้น ซึ่งมักเป็นงานประจำ เช่น
การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ตารางการทำงาน เป็นต้น
และการตัดสินใจที่ไม่เป็นไปตามลำดับขั้น
เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นนานๆ
ครั้ง เช่น การตัดสินใจเกี่ยวกับการริเริ่มงานใหม่ เช่น ตั้งคณะใหม่
หรือขยายโรงงานใหม่ เป็นต้น
ชนิดของการตัดสินใจ
Simon. (1960) ได้แบ่งชนิดของการตัดสินใจออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. การตัดสินใจที่กำหนดไว้ล่วงหน้าหรือมีแบบอย่างไว้ล่วงหน้า
(Programmed decisions) เป็นการตัดสินใจตามระเบียบ กฎเกณฑ์
แบบแผนที่เคยปฏิบัติมาจนกลายเป็นงานประจำ เช่น การตัดสินใจเกี่ยวกับการลาป่วย
ลากิจ ลาบวช การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การอนุมัติผลการศึกษา เป็นต้น
การตัดสินใจแบบกำหนดไว้ล่วงหน้านี้ เปิดโอกาสให้ผู้บริหารเลือกทางเลือกได้น้อย
เพราะว่าเป็นการตัดสินใจภายใต้สภาวการณ์ที่แน่นอน
2. การตัดสินใจที่ไม่ได้กำหนดหรือไม่มีแบบอย่างไว้ล่วงหน้า
(Non-programmed decisions) เป็นการตัดสินใจในเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
ไม่มีระเบียบ กฎเกณฑ์ แบบแผนที่เคยปฏิบัติมาก่อน จึงเป็นเรื่องยุ่งยากแก่ผู้ตัดสินใจ
โดยที่ผู้บริหารหรือผู้ตัดสินใจจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนด้วย เช่น
การตัดสินใจนำเงินไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนหรือผลกำไรในธุรกิจ
การตัดสินใจผลิตสินค้าตัวใหม่ การตัดสินใจในการขยายกิจการ เป็นต้น
สรุปว่า
การตัดสินใจมีลักษณะเป็นกระบวนการของการเปรียบเทียบผลตอบแทน
เป็นหน้าที่จำเป็นต้องตัดสินใจภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการบริหารความขัดแย้งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์การโดยส่วนรวม กระบวนการตัดสินใจประกอบด้วยส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์
เป้าหมาย ข้อจำกัด และการกำหนดทางเลือก และส่วนที่เป็นการเลือกทางเลือกหรือกลยุทธ์ที่ดีที่สุดตามสภาวการณ์
สำหรับชนิดของการตัดสินใจมี 2 ชนิด คือ
การตัดสินใจที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และการตัดสินใจที่ไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า
องค์ประกอบของการตัดสินใจ
กัลยา
วานิชย์บัญชา. (2553)
กล่าวว่า ปัญหาในการตัดสินใจต้องประกอบด้วยองค์ประกอบของการตัดสินใจ
ดังนี้
1.
ผู้ตัดสินใจ (Decision
maker) อาจเป็นบุคคลเดียวหรือกลุ่มบุคคลก็ได้
2.
ทางเลือกกระทำ (Alternative
action) ผู้ตัดสินใจต้องพิจารณาว่ามีทางเลือกใดบ้างที่เป็นไปได้
3.
เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจไปแล้ว
(Status of nature or event) เมื่อเลือกทางเลือกแล้วอาจเกิดเหตุการณ์ต่างๆ
เนื่องจากผลจากการตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง
โดยที่ผู้ตัดสินใจไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ เช่น
การตัดสินใจว่าจะซื้อหุ้นอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ มีทางเลือก 2 ทาง คือ ซื้อ หรือไม่ซื้อ
เมื่อตัดสินใจไปแล้วอาจเป็นเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง คือ
ราคาหุ้นอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นหรือลดลง
ซึ่งผู้ตัดสินใจจะไม่สามารถควบคุมให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้
4.
ผลตอบแทนซึ่งอาจอยู่ในรูปของผลกำไร (Profit)
ยอดขาย (Sales) หรือต้น (Cost)
นภดล ร่มโพธิ์. (2554) กล่าวว่า ในการตัดสินใจจะมีองค์ประกอบสำคัญ
3 ส่วน คือ
1. ทางเลือกในการตัดสินใจ หากมีเพียงทางเลือกเดียวแล้วการตัดสินใจย่อมไม่ซับซ้อนเนื่องจากไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบ
แต่โดยส่วนใหญ่แล้วทางเลือกในการตัดสินใจมักจะมีมากกว่า 1 ทางเลือก
เช่น จะเลือกสร้างโรงงานที่กรุงเทพฯ หรือนครสวรรค์
จะเลือกเรียนในประเทศหรือต่างประเทศ เป็นต้น
2. ปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจ เช่น การเลือกสร้างโรงงาน ปัจจัยที่อาจใช้ประกอบการตัดสินใจ
เช่น ค่าแรงในแต่ละพื้นที่ ค่าก่อสร้างในแต่ละพื้นที่
หรือความใกล้ไกลจากวัตถุดิบ หรือการเลือกเรียนในประเทศหรือต่างประเทศนั้นปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจ เช่น ต้นทุนค่าเล่าเรียน หรือความสามารถของอาจารย์ผู้สอน
เป็นต้น
3. เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
จะเป็นสิ่งที่ผู้ตัดสินใจไม่สามารถที่จะควบคุมได้แต่จะส่งผลลัพธ์ต่อการตัดสินใจ เช่น
ในการสร้างโรงงานนั้น เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่
เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี หรือการเลือกเรียนในหรือต่างประเทศนั้น เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เช่น การออกกฎหมายเพื่อเพิ่มเงินเดือนกับคนจบต่างประเทศ
เป็นต้น
สรุปว่า องค์ประกอบในการตัดสินใจ ประกอบด้วย ผู้ตัดสินใจ
ทางเลือกในการตัดสินใจ ปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจ
เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากการตัดสินใจ และผลตอบแทน
กระบวนการตัดสินใจ
กระบวนการตัดสินใจ
(Process of decision making) หมายถึง
การกำหนดขั้นตอนของการตัดสินใจตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย
การตัดสินใจโดยมีลำดับขั้นของกระบวนการดังกล่าว
เป็นการตัดสินใจโดยใช้หลักเหตุผลและมีกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นการตัดสินใจโดยใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วยในการหาข้อสรุปเพื่อการตัดสินใจ
ขั้นตอนของกระบวนการตัดสินใจมีอยู่หลายรูปแบบ แล้วแต่ความคิดเห็นของนักวิชาการ Plunkett
and Attner. (1994) ได้เสนอลำดับขั้นตอนของกระบวนการตัดสินใจไว้ 7 ขั้นตอน ดังนี้
1. การระบุปัญหา (Define the
problem) เป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญอย่างมาก
เพราะการระบุปัญหาได้ถูกต้องหรือไม่ ย่อมมีผลต่อการดำเนินการในขั้นต่อๆ
ไปของกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการตัดสินใจด้วย ดังนั้น
ผู้บริหารจึงควรระมัดระวังมิให้เกิดความผิดพลาดในการระบุปัญหาขององค์การ ทั้งนี้
ผู้บริหารควรแยกแยะความแตกต่างระหว่างอาการแสดง (Symptom) ที่เกิดขึ้นกับตัวปัญหาที่แท้จริงเสียก่อน
ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ยอดขายของบริษัทลดลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากคุณภาพสินค้าต่ำ
จะเห็นว่าการที่ยอดขายลดลง เป็นอาการแสดง และปัญหาที่ต้องแก้ไขได้แก่
การที่คุณภาพสินค้าต่ำ ดังนั้นผู้บริหารที่ชาญฉลาดต้องคอยสังเกตอาการแสดงต่างๆ
ทั้งต้องรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการค้นหาสาเหตุของอาการแสดงเหล่านั้น
ซึ่งจะนำไปสู่การระบุปัญหาที่แท้จริงได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
2. การระบุข้อจำกัดของปัจจัย (Identify
limiting factors) เมื่อสามารถระบุปัญหาได้ถูกต้องแล้ว
ผู้บริหารควรพิจารณาถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ขององค์การ
โดยพิจารณาจากทรัพยากรซึ่งเป็นองค์ประกอบของกระบวนการผลิต ได้แก่ กำลังคน เงินทุน
เครื่องจักร สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมทั้งเวลาซึ่งมักเป็นปัจจัยจำกัดที่พบอยู่เสมอ
ๆ การรู้ถึงข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
จะช่วยให้ผู้บริหารกำหนดขอบเขตในการพัฒนาทางเลือกให้แคบลงได้ ตัวอย่างเช่น
ถ้ามีเงื่อนไขว่าต้องส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าภายในเวลา 1 เดือน
ทางเลือกของการแก้ไขปัญหาการผลิตสินค้าไม่เพียงพอที่มีระยะเวลาดำเนินการมากกว่า 1 เดือน ก็ควรถูกตัดทิ้งไป
3. การพัฒนาทางเลือก (Develop
potential alternatives) ขั้นตอนต่อไป
ผู้บริหารควรทำการพัฒนาทางเลือกต่างๆ ขึ้นมา
ซึ่งทางเลือกเหล่านั้นควรเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพและมีความเป็นไปได้
ในการแก้ปัญหาให้น้อยลงหรือให้ประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น
กรณีที่องค์การประสบปัญหาเวลาการผลิตไม่เพียงพอ ผู้บริหารอาจพิจารณาทางเลือกดังนี้
1) เพิ่มการทำงานกะพิเศษ 2) เพิ่มการทำงานล่วงเวลาโดยใช้ตารางปกติ
3) เพิ่มจำนวนพนักงาน หรือ 4) ไม่ทำอะไรเลย
ในการพัฒนาทางเลือกผู้บริหารอาจขอความคิดเห็นจากนักบริหารอื่นๆ
ที่ประสบความสำเร็จทั้งภายในและภายนอกขององค์การ
ซึ่งอาจใช้วิธีการปรึกษาหารือเป็นรายบุคคล หรือจัดการประชุมกลุ่มย่อยขึ้น
ข้อมูลที่ได้รับจากบุคคลเหล่านั้นเมื่อผนวกรวมกับสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ
ความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์ของตนเองจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถพัฒนาทางเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การวิเคราะห์ทางเลือก (Analyze
the alternatives) เมื่อผู้บริหารได้ทำการพัฒนาทางเลือกต่างๆ
โดยจะนำเอาข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือกมาเปรียบเทียบกันอย่างรอบคอบ
และควรวิเคราะห์ทางเลือกในสองแนวทาง คือ 1) ทางเลือกนั้นสามารถนำมาใช้จะเกิดผลต่อเนื่องอะไรตามมา
ตัวอย่างเช่น ถ้าโควตาปกติในการผลิตมอเตอร์ของแผนกผลิตเท่ากับ 500 เครื่องต่อเดือน แต่แผนกผลิตต้องผลิตมอเตอร์ให้ได้ 1,000 เครื่อง ภายในสิ้นเดือนนี้
โดยมีข้อจำกัดด้านต้นทุนขององค์การว่าจะจ่ายค่าจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10,000 บาทเท่านั้น
ทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหาอาจทำได้โดยการจ้างพนักงานทำงานล่วงเวลาในวันหยุดและเวลากลางคืน
แต่เมื่อ ประเมินได้แล้วพบว่าวิธีนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 17,000 บาท ผู้บริหารก็ควรตัดทางเลือกนี้ทิ้งไป
เพราะไม่สามารถนำมาใช้ได้ภายใต้ข้อจำกัดด้านต้นทุน
อย่างไรก็ตามทางเลือกบางทางเลือกที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดขององค์การก็อาจทำให้เกิดผลต่อเนื่องที่ไม่พึงประสงค์ตามมา
เช่น ทางเลือกหนึ่ง ของการเพิ่มผลผลิต ได้แก่การลงทุนติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์
ซึ่งจะช่วยให้แก้ปัญหาได้
แต่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการลดลงของขวัญกำลังใจของพนักงานในระยะต่อมา เป็นต้น
5. การเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด (Select
the best alternative) เมื่อผู้บริหารได้ทำการ
วิเคราะห์และประเมินทางเลือกต่าง ๆ แล้ว ผู้บริหารควรเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือกอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุดเพียงทางเดียว
ทางเลือกที่ดีที่สุดควรมีผลเสียต่อเนื่องในภายหลังน้อยที่สุด
และให้ผลประโยชน์มากที่สุด
แต่บางครั้งผู้บริหารอาจตัดสินใจเลือกทางเลือกแบบประนีประนอม โดยพิจารณาองค์ประกอบที่ดีที่สุดของแต่ละทางเลือกนำมาผสมผสานกัน
6. การนำผลการตัดสินใจไปปฏิบัติ (Implement
the decision) เมื่อผู้บริหารได้ทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว
ก็ควรมีการนำผลการตัดสินใจนั้นไปปฏิบัติ
เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารควรกำหนดโปรแกรมของการตัดสินใจ
โดยระบุถึงตารางเวลาการดำเนินงาน งบประมาณ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ
ควรมีการมอบหมายอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน
และจัดให้มีระบบการติดต่อสื่อสารที่จะช่วยให้การตัดสินใจเป็นที่ยอมรับ
นอกจากนี้ผู้บริหารควรกำหนดระเบียบวิธี กฎ และนโยบาย ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
7. การสร้างระบบควบคุมและประเมินผล
(Establish a control and evaluation system) ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการตัดสินใจ
ได้แก่ การสร้างระบบการควบคุมและการประเมินผล
ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารได้รับข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่
ข้อมูลย้อนกลับจะช่วยให้ผู้บริหารแก้ปัญหาหรือทำการตัดสินใจใหม่ได้โดยได้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติที่ดีที่สุด
สรุปว่า
กระบวนการตัดสินใจแบ่งเป็น 7 ขั้นตอน คือ การระบุปัญหา การระบุข้อจำกัดของปัจจัย การพัฒนาทางเลือก การวิเคราะห์ทางเลือก การเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด การนำผลการตัดสินใจไปปฏิบัติ การสร้างระบบควบคุมและการประเมินผล
รูปแบบของการตัดสินใจ
การตัดสินใจเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน
โดยเฉพาะในหน่วยงาน การตัดสินใจอาจกระทำโดยบุคคลเพียงคนเดียว
หรือเป็นกลุ่มบุคคลแล้วแต่ความเหมาะสมของกรณี
รูปแบบของการตัดสินใจโดยถือเอาจำนวนคนที่ร่วมตัดสินใจเป็นเกณฑ์สามารถจำแนกออกได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
1. การตัดสินใจโดยบุคคลคนเดียว (Individual
decision making) ใช้สำหรับการตัดสินใจในเรื่องง่าย ๆ
ที่ผู้ทำการตัดสินใจได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
หรือเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉินที่ไม่มีเวลาพอสำหรับการปรึกษาหารือกับบุคคลอื่น
2. การตัดสินใจโดยกลุ่มบุคคล (Group
decision making) เป็นการตัดสินใจโดยให้ผู้ที่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามผลของการตัดสินใจนั้น
ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูล
การตัดสินใจโดยกลุ่มบุคคลนี้เหมาะสำหรับการตัดสินใจในเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน
หรือเรื่องที่ผู้บริหารไม่มีข้อมูลข่าวสารเพียงพอหรือยังขาดประสบการณ์ในเรื่องนั้น
ๆ หรือไม่มีความชำนาญทางด้านนั้นอย่างเพียงพอ
จึงจำเป็นต้องฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์
แล้วประมวลความคิดเห็นเหล่านั้นมาเป็นสิ่งกำหนดการตัดสินใจ กลุ่มบุคคลดังกล่าว
อาจได้แก่ กลุ่มผู้บริหาร ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าส่วนต่าง ๆ ของหน่วยงาน
คณะกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งอาจประกอบด้วยผู้บริหาร
ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกัน
วิธีการตัดสินใจโดยกลุ่มอาจทำได้ในลักษณะต่างๆ
2.1
การตัดสินใจโดยใช้ข้อยุติที่เป็นมติในเสียงข้างมาก
อาจใช้ระบบเสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่ง หรือระบบสองในสามของกลุ่ม
แล้วแต่ความสำคัญของเรื่องที่ตัดสินใจ
2.2
การตัดสินใจโดยข้อยุติเป็นเอกฉันท์คือการที่สมาชิกทุกคนเห็นพร้องต้องกันโดยไม่มีความขัดแย้ง
และ
2.3
สมาชิกในที่ประชุมเสนอความคิดเห็น แล้วให้ผู้บริหารนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเอง
ประเภทของการตัดสินใจ
การตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดในปัญหาหนึ่งๆ นั้น
ขึ้นอยู่กับผู้ทำการตัดสินใจทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาวการณ์นอกบังคับที่จะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด
หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการเลือกทางเลือกนั้นจะขึ้นอยู่กับประเภทของสภาวการณ์ต่างๆหรือเรียกว่าประเภทของการตัดสินใจซึ่งมี 3 ประเภท ดังนี้ (กัลยา วานิชย์บัญชา. 2553)
1. การตัดสินใจภายใต้สภาวการณ์ที่แน่นอน
(Decision making under certainty)
เป็นการตัดสินใจที่ผู้ตัดสินใจทราบแน่นอนว่าสภาวการณ์ใดและจะทำการตัดสินใจภายใต้สภาวการณ์นั้น
2. การตัดสินใจภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่แน่นอน
(Decision making under uncertainty)
เป็นการตัดสินใจที่ผู้ตัดสินใจทราบแต่เพียงว่ามีสภาวการณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่กำลังตัดสินใจที่อาจจะเกิดขึ้นได้บ้างโดยไม่ทราบโอกาสหรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นของแต่ละสภาวการณ์
3. การตัดสินใจภายใต้ความเสี่ยง (Decision making under risk) เป็นการตัดสินใจที่นอกจากผู้ตัดสินใจจะทราบว่ามีสภาวการณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่กำลังตัดสินใจเกิดขึ้นบ้างแล้ว
ยังทราบถึงความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นของแต่ละสภาวการณ์
วิธีการตัดสินใจ
1. วิธีการตัดสินใจโดยหลักของเหตุผล
(The Rational approach) ประกอบด้วย 8
ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 ระบุปัญหา (Identify a process) เนื่องจากปัญหาคือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่กับสิ่งที่เราต้องการจะเป็น
ขั้นที่ 2 ระบุเกณฑ์ที่จะใช้ในการตัดสินใจ (Identifying
decision criteria) คือปัจจัยที่เป็นเหตุผลสัมพันธ์กับการตัดสินใจ (Relevant
in making a decision)
ขั้นที่ 3 กำหนดน้ำหนักให้กับเกณฑ์เหล่านั้น (Allocation
weights to the criteria) ซึ่งจะมากน้อยแตกต่างกันไปตามความสำคัญ
โดยให้น้ำหนักมากเป็นเกณฑ์ที่สำคัญต่อการตัดสินใจ
ขั้นที่ 4 กำหนดทางเลือก (Developing
alternatives)
ขั้นที่ 5 วิเคราะห์ทางเลือก (Analyzing
alternatives) เป็นการนำทางเลือกมาวิเคราะห์ถึงข้อดี
ข้อเสียโดยละเอียดแต่ละทางเลือก เพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการตัดสินใจทางเลือก
ขั้นที่ 6 เลือกทางเลือก (Selecting
alternatives)
ขั้นที่ 7 ดำเนินการตามทางเลือก (Implementing
the alternative) การตัดสินใจจะไม่สมบูรณ์หากไม่ได้มีการดำเนินการติดตาม
ขั้นที่ 8 ประเมินผลการตัดสินใจ (Evaluating
decision effectiveness) เพื่อประเมินทางเลือกที่เลือกมาได้สามารถแก้ไขปัญหา
หรือปัญหาที่มีอยู่ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยเพียงใด
2. วิธีการตัดสินใจโดยวิธีการเชิงพฤติกรรม
(The Behavior approach) คือ การให้ความสำคัญกับบทบาทและพฤติกรรมของบุคคลในกระบวนการตัดสินใจ
เพราะไม่สามารถหาข้อมูลได้ครบถ้วน
จึงยอมรับที่จะใช้หลักเหตุผลภายใต้ขอบเขตที่จำกัด ซึ่งมีคุณลักษณะดังนี้
2.1 ใช้กฎระเบียบ (Procedures) กฎแห่งการลองผิดลองถูก (Rules
of thumb) และความเชื่อเฉพาะตัว
2.2 ใช้หลักความพอดี (Sub-optimizing)
2.3 ใช้หลักความพอใจ (Satisfying)
3. วิธีการตัดสินใจด้วยวิธีการเชิงปฏิบัติ
(The Practical approach) เป็นวิธีการผสมผสานการตัดสินใจด้วยเหตุผลและวิธีการเชิงพฤติกรรมเข้าด้วยกัน
4. วิธีการตัดสินใจตามตัวแบบความขัดแย้ง
(The Conflict model) การอธิบายถึงความขัดแย้งของบุคคลที่เผชิญกับความยุ่งยากในการตัดสินใจ
ซึ่งมีพื้นฐานสำคัญ 5 ประการ
4.1 การตัดสินใจที่สำคัญต่อชีวิต (Important life decision)
4.2 การเลื่อนการตัดสินใจหรือการผลัดวันประกันพรุ่ง (Procrastination)
4.3 การตัดสินใจอย่างเปิดเผย
4.4 การตัดสินใจโดยอิงกับจริยธรรม
4.5 การให้ความรู้และหลักการก่อนให้ตัดสินใจ
การกำหนดผู้ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ
การกำหนดผู้ทำหน้าที่ในการตัดสินใจมีวิธีการพิจารณา
ดังนี้
1. การตัดสินใจโดยผู้บริหาร (Individual
decisions) มีความเชื่อว่าเป็นอำนาจของผู้บริหาร
เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญการหาข้อมูลเพิ่มเติมและปรึกษาผู้อื่นทำให้สิ้นเปลืองเวลา
2. การตัดสินใจโดยขอคำปรึกษา (Consultative
decisions) เป็นการตัดสินใจโดยผู้บริหาร
ซึ่งใช้วิธีระดมความคิดโดยการประชุม หรือเชิญผู้เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูลและคำปรึกษา
3. การตัดสินใจโดยกลุ่ม
เป็นกระบวนการที่ผู้บริหารหาข้อมูลเพิ่มเติมจากลุ่มหรือให้กลุ่มมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
ซึ่งทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบุคลากร
วิธีการตัดสินใจโดยกลุ่มที่จะเกิดผลสูงสุด
1. กำหนดเป้าหมาย (Setting
objective) เพราะทำให้ได้รับความรู้และข่าวสารจากสมาชิกเพิ่มขึ้น
2. ประเมินทางเลือก (Evaluating
alternatives) เพราะทำให้สมาชิกพิจารณาความเห็นต่าง ๆ ได้กว้างขึ้น
การตัดสินใจในกลุ่ม (Decision
making in group) ทำได้หลายรูปแบบ คือ
1. การตัดสินใจโดยการแสวงหาความร่วมมือ
(Coalition) เป็นการหาพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการ
2. การตัดสินใจโดยคณะทำงาน (Task
groups) เป็นคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
3. การตัดสินใจโดยสร้างปฏิสัมพันธ์
ของกลุ่ม (Interacting groups) นำเทคนิค การระดมสมอง (brain
storming) มาประยุกต์ใช้เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอ
เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการตัดสินใจ
4. การตัดสินใจโดยใช้เทคนิค เดลฟาย
(Delphi technique) เป็นวิธีที่ให้ผู้ทรงคุณวุฒิกำหนดนิยามปัญหาเพื่อการตัดสินใจ
คณะทำงานจะส่งความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่าน
ไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นได้อ่านและวิเคราะห์
เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่กำหนด
เพื่อสร้างความชัดเจนในด้านความเห็นและข้อโต้แย้ง ทำอย่างนี้หลายรอบ
จนเกิดความมั่นใจและชัดเจนว่าผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่
สรุปประเด็นการตัดสินใจอย่างไรแล้วนำข้อคิดเห็นนั้นไปประกอบการตัดสินใจ
สรุปว่า
รูปแบบการตัดสินใจถ้าแบ่งตามจำนวนคนในการตัดสินใจสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การตัดสินใจโดยคนคนเดียว
และการตัดสินใจโดยกลุ่ม ประเภทของการตัดสินใจแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
การตัดสินใจในสถานการณ์ที่แน่นอน การตัดสินใจในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
และการตัดสินใจภายใต้ความเสี่ยง โดยมีวิธีตัดสินใจ 4 วิธี
คือ วิธีการตัดสินใจโดยหลักของเหตุผล วิธีการเชิงพฤติกรรม วิธีการเชิงปฏิบัติ และวิธีการตามตัวแบบความขัดแย้ง
บรรณานุกรม
กัลยา
วานิชย์บัญชา. (2553).
การวิเคราะห์เชิงปริมาณ. กรุงเทพฯ : คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จินตนา
บุญบงการ. (2538). สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ. กรุงเทพฯ : วิทยพัฒน์.
จีราภรณ์
รักษาแก้ว. (2539).
สารสนเทศ. ใน เอกสารการสอนชุดวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
หน่วยที่ 1-7 . หน้า 59-61. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
นภดล
ร่มโพธิ์. (2554). เทคนิคในการวิเคราะห์การตัดสินใจทางธุรกิจ. บริหารธุรกิจ. 34(132) : 10-13.
[ออนไลน์]. ค้นเมื่อ
11 เมษายน 2556 จาก ww.jba.tbs.tu.ac.th/files/Jba132/Column/
JBA132NopadolC.pdf
ไพบูลย์ เกียรติโกมล และ ณัฏฐพันธ์ เขจรนันท์. (2551). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. กรุงเทพฯ:
ซีเอ็ดยูเคชั่น.
มานิตย์ บุญช่วยและคณะ. (2546). ระบบสานสนเทศเพื่อการจัดการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: วิรัตน์เอ็ด
ดูเคชั่น.
ระพีพรรณ พิริยะกุล.
(2550).
การจำลองระบบด้วยคอมพิวเตอร์.
กรุงเทพฯ : ภาควิชาวิทยาการ
คอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ศิริวรรณ
เสรีรัตน์. และคณะ. (2542).
ธุรกิจทั่วไป: ความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจ. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์ธีระพิมพ์และไซเท็กซ์.
สมคิด บางโม. (2548). องค์การและการจัดการ. กรุงเทพฯ : วิทยพัฒน์.
สุทธินันท์ พรหมสุวรรณ.
(2540). การบริหารองค์การในยุค
ค.ศ. 2020. นักบริหาร. 17 (1) : 60-63.
เสาวนีย์ เลิศวรสิริกุล. (2553).
การบริหารธุรกิจยุคใหม่ด้วยการวิจัยดำเนินงาน. กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Business Dictionary. (2013). Rational Decision Making. [Online] : Search on Aprill
3, 2013.
Cooper, D.R. and P.S. Schindler.
(2011). Business research
methods. 11th ed. New York: McGraw-
Hill Higher Education.
Ebert, R.J. and R.W.Griffit.
(2000). Business Essentials. New
Jersey : Prentice Hall.
Plunkett, W.R. and R. F.
Attner. (1994). Introduction to
Management. Belmont: Wadsworth.
Simon, H.A. (1960). The New Science of Management Decision. New
York: Harper and Row.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น