วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การทบทวนวรรณกรรมเพื่อการวิจัย

การทบทวนวรรณกรรม
       การทบทวนวรรณกรรม คือ การอ่านทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ฉนั้นเป้าหมายแรก จึงต้องทบทวนวรรณกรรมวิจัย ซึ่งหมายถึง บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารหรือในรายงานการประชุมวิชาการ (Proceeding)  รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ วิทยานิพนธ์ หรือเอกสารอื่นที่เป็นผลมาจากการวิจัย เช่น รวมบทคัดย่อการวิจัย บทความปริทัศน์ที่สังเคราะห์จาการวิจัย เป็นต้น
       ปัญหา คือ จะเข้าถึงสารสนเทศเพื่อทบทวนวรรณกรรมได้อย่างไร ผู้เขียนมีหลักง่ายๆ ตามขั้นตอน ดังนี้
          1. ขั้นกำหนดประเด็นการวิจัย และกำหนดคำหลักของการวิจัย กล่าว คือ ผู้วิจัยต้องรู้ว่าตนกำลังทำวิจัยเรื่องอะไร เกี่ยวกับอะไร ถ้ายังตั้งชื่อเรื่องไม่ได้ หรือยังไม่มีชื่อเรื่อง ผู้วิจัยต้องรู้ว่าหัวข้อเรื่องที่ตนสนใจ (Subject) คืออะไร และคำหลักหรือคำสำคัญ (Keyword) ที่เกี่ยวข้องมีคำใดบ้าง หัวเรื่องคือประเด็นหลัก เช่น ประเด็น การท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการท่องเที่ยว หรือท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น  คำหลัก คือ คำสำคัญ เช่น การท่องเที่ยว ชุมชน การจัดการ เป็นต้น
          2. ขั้นกำหนดแหล่งข้อมูล คือ ผู้วิจัยต้องรู้ว่าจะหาข้อมูลการวิจัยจากที่ใด เช่น ค้นข้อมูลในห้องสมุด  หรือ ค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งแหล่งข้อมูลแต่ละแหล่งมีวิธีการเข้าถึงไม่เหมือนกัน
          3. ขั้นกำหนดการเข้าถึงสารสนเทศการวิจัย ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญมากที่ผู้วิจัยต้องมีทักษะการเข้าถึงงานวิจัยที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผู้วิจัยต้องมีทักษะทางสารนิเทศ หรือเป็นผู้รู้สารสนเทศ นั่นคือ ต้องกำหนดความต้องการสารสนเทศทางการวิจัยที่ตนต้องการได้ รู้จักเครื่องมือการเข้าถึงสารสนเทศการวิจัย การประเมินผลงานวิจัย การวิเคราะห์สังเคราะห์งานวิจัย การประมวลผล และการใช้ประโยชน์งานวิจัย ซึ่งในขั้นตอนนี้เป็นการเข้าถึงงานวิจัยชนิดต่างๆ ด้วยเครื่องมือ อย่างง่าย 2 ชนิด คือ OPAC และ Search engine  และที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างกว้างขวางและตรงประเด็น คือ การเข้าถึงฐานข้อมูล (Data base) ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก สำหรับนักวิจัยหน้าใหม่ หรือผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการวิจัย ขอแนะนำฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย (http://tdc.thailis.or.th/tdc)
และฐานข้อมูล Science direct ซึ่งทั้งสองฐานข้อมูลนี้ ทุกมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นสมาชิก สามารถเข้าถึงโดยไม่ยาก นอกจากนี้แล้วยังมีฐานข้อมูลเฉพาะเรื่องจำนวนมาก
         4.  ขั้นทบทวนวรรณกรรม ขั้นนี้ผูวิจัยจะต้องใช้ความรู้ความสามารถในการอ่าน การสรุปประเด็น และรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีเทคนิค ดังนี้
             4.1 การอ่าน การอ่านมีวิธีการอยู่ 2 วิธี คือ 1) การอ่านผ่านๆเพื่อตตรวจสอบว่าเรื่องที่อ่านนั้นเกียวข้องกับเรื่องที่ผู้วิจัยกำลังสนใจหรือไม่ การอ่านในลักษณะนี้เป็นการอ่านเพื่อสำรวจความเกี่ยวข้อง อ่านเพื่อให้รู้ว่ามีประเด็นสำคัญเกี่ยวข้องกับการวิจัยของเราอย่างไร การอ่านในขั้นตอนนี้จึงต้องใช้เทคนิคการอ่านแบบกวาดสายตา (Scaning) คือ การอ่านแบบผ่านสายตาให้รู้ว่าเรื่องที่อ่านนี้เกี่่ยวข้องกับการวิจัยของเราหรือไม่ สิ่งสำคัญที่จะต้องสังเกต คือ คำสำคัญ มีอะไรบ้าง หากอ่านแล้วมีคำสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังจะวิจัยผู้วิจัยจึงค่อยอ่านในขั้นต่อไป 2) การอ่านจับประเด็นเป็นการอ่านเพื่อพินิจพิเคราะห์ (Sciming) พิจารณาประเด็นสำคัญและรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การอ่านในขั้นนี้เป็นการอ่านเพื่อจดบันทึก ก่อนที่จะนำสิ่งที่จดบันทึกไปสังเคราะห์
             4.2 การจดบันทึก คือการบันทึกวรรณกรรมที่อ่าน แบ่งเป็น 4 แบบ คือ
                  4.2.1 บันทึกแบบสรุปความ (Sumary note)เป็นการจดบันทึกความรู้จากการอ่านด้วยการสรุปใจความสำคัญโดยการเขียนขึ้นใหม่ให้เป็นสำนวนของผู้บันทึกเอง การสรุปไม่ใช่การย่อความ แต่เป็นการสรุปใจความสำคัญ หรือสรุปความคิดหลัก (Main idia) ของเรื่องนั้นๆ คือ การบันทึกแบบวิจารณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง
                 4.2.2 บันทึกแบบถอดความ (Pharaphase note)  เป็นการจดบันทึกความรู้จากวรรณกรรมที่อ่านด้วยการอธิบายเนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่งให้กระชับครบถ้วนด้วยภาษาสำนวนของผู้บันทึกเองให้กระชับเข้าใจง่าย ไม่ใช่การตัดต่อดัดแปลง แต่ต้องเขียนขึ้นใหม่ด้วนภาษาสำนวนของผู้บันทึกให้เนื้อหาครบถ้วนดังเดิม
                 4.2.3 การบันทึกแบบอัญพจน์ (Quotation note)   เป็นการบันทึกโดยคัดลอกข้อความสำคัญ หรือมีลักษณะคมคายซาบซึ้ง หรือเป็นคำนิยามที่คัดลอกมาจากบรรณานุกรม หรือเป็นข้อความที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากเปลี่ยนแปลงอาจมีสำนวนไม่ดีเท่าเดิม การบันทึกจึงต้องใส่เครื่องหมาย อัญประกาศกำกับ "......" ความยาวที่นิยมบันทึกไม่ควรเกิน 4 บรรทัด
                 4.2.4 บันทึกแบบวิจารณ์ (Criticize note) เป็นการบันทึกที่ผู้บันทึกแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาเรื่องนั้นๆ เพิมเติม
      



จุดมุ่งหมายของการทบทวนวรรณกรรม
       การทบทวนวรรณกรรม (Literature  Review)  คือ การอ่านวรรณกรรมต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัย  ประกอบด้วยเอกสาร ตำราต่างๆ  บทความทางวิชาการจากวารสารทั้งในและต่างประเทศ  รายงานการวิจัย บทคัดย่องานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์  รวมทั้งข้อมูลความรู้  ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์  เช่น วารสารอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic  Journals)หนังสืออิเล็กทรอนิกส์(Electronic  Books)   ฐานข้อมูลต่างๆ  ตลอดจนข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ เป็นต้น
       การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องทำให้ผู้วิจัยมีความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย  ได้แนวทางในการวิจัย  ทำให้ทราบว่ามีใครทำไว้บ้างแล้ว  ทำในลักษณะใด  ใช้ตัวแปรใดศึกษา  มีวิธีการศึกษาอย่างไร  ผลเป็นอย่างไร  ข้อเสนอแนะต่างๆ จากงานวิจัยที่มีผู้ทำไปแล้วมีอย่างไร  การทำวิจัยครั้งต่อไปควรทำอย่างไร  นอกจากนี้ในวรรณกรรมต่างๆ อาจทำให้ได้แนวคิด  ทฤษฎี  วิธีการ  ข้อคิดเห็น  และความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานวิจัยซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินการวิจัยของผู้วิจัย
       ทำไมต้องอ่านทบทวนวรรณกรรม
          การอ่านทบทวนวรรณกรรม  คือ การพิจารณา วิเคราะห์งานวิจัยของคนอื่นที่เกี่ยวข้อง  และที่มีความสำคัญต่องานวิจัยที่จะทำ  เมื่ออ่านทบทวนวรรณกรรมแล้วไม่ใช่เพียงแต่สรุปย่อวรรณกรรมที่อ่านเท่านั้น แต่ต้องประเมินวรรณกรรมและบอกให้ทราบว่าวรรณกรรมที่อ่านแล้วนั้นมีความเหมือนหรือความแตกต่างและสอดคล้องกับงานวิจัยที่จะทำอย่างไร  การเขียนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องไม่ใช่การสรุปย่อวรรณกรรม  แต่ต้องอภิปรายว่า  งานวิจัยที่อ่านทบทวนเกี่ยวข้องอย่างไรกับงานวิจัยที่จะทำ  และต้องรู้ว่ามีงานวิจัยอย่างไรบ้างในเรื่องนั้นที่คนอื่นทำแล้ว
          การอ่านทบทวนวรรณกรรมต้องตอบคำถามต่อไปนี้
1.  อะไรบ้างที่คุณรู้เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังทำงานวิจัย
2.  คุณลักษณะของแนวคิดหลักหรือปัจจัยหรือตัวแปรอะไรที่ต้องศึกษา
3.  แนวคิดหลัก ปัจจัย  หรือตัวแปรที่จะศึกษาสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร
4.  มีทฤษฎีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่กำลังศึกษา
5.  มีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษาที่คุณยังไม่รู้  ไม่เข้าใจ
6.  คุณต้องทดสอบอะไรบ้างในงานวิจัยที่จะทำ
7.  คุณขาดหลักฐานข้อมูลอะไรบ้าง ข้อมูลอะไรที่ตรงกันข้ามหรือมีน้อย
8.  งานวิจัยที่จะทำต้องการคำตอบอะไรและจะใช้คำตอบนั้นทำอะไร
9.  ทำไมจึงทำวิจัยเรื่องนั้น  งานวิจัยนั้นเกิดประโยชน์อะไร
10.  การออกแบบงานวิจัย  และมีวิธีศึกษาวิจัยที่ไม่ควรใช้มีอะไรบ้าง
          ประโยชน์ของการทบทวนวรรณกรรม
      การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมีประโยชน์ต่อการวิจัยอย่างยิ่งพอประมวลได้ดังนี้
1.  ทำให้เกิดความเข้าใจแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
2.  ป้องกันการวิจัยซ้ำซ้อนกับบุคคลอื่น เพราะเมื่อทบทวนวรรณกรรมจะทำให้ผู้วิจัย
ทราบว่ามีใครทำวิจัยเรื่องที่ตนสนใจไปบ้าง ทำวิจัยเกี่ยวกับอะไร
3.  ทำให้เกิดแนวความคิดในการดำเนินการวิจัย  การทบทวนวรรณกรรมเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างประสบการณ์และความรู้ให้กับผู้วิจัย ซึ่งจะนำไปสู่แนวคิดในการดำเนินการวิจัยต่อไป
4.  ช่วยกำหนดปัญหาและสมมติฐานให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
5.  ช่วยในการออกแบบการวิจัยให้เหมาะสม
6.  เป็นข้อมูลเสริมสำหรับการอภิปรายและเขียนรายงานการวิจัย
7.  เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของการวิจัยที่จะทำ เพราะในการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยอย่างกว้างขวาง ย่อมทำให้ผู้วิจัยเข้าใจในเรื่องที่ศึกษาผลงานวิจัยของผู้อื่น ทำให้ทราบจุดบกพร่องของงานวิจัย และหาทางป้องกันแก้ไขพร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพงานวิจัยของตนให้มีคุณภาพทัดเทียมหรือดีกว่า
           การทบทวนวรรณกรรมในการวิจัยที่ใช้การสรุปย่อวรรณกรรมที่อ่านว่าใครทำวิจัยเรื่องอะไรและไม่ใช่เป็นเพียงการบอกให้ผู้อ่านรู้ว่ามีใครทำอะไรบ้าง แต่การทบทวนวรรณกรรมเป็นการวิเคราะห์วรรณกรรมหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง หลังจากประเมินแล้วว่าวรรณกรรมที่คัดเลือกมาสอดคล้องและมีความสำคัญต่องานวิจัยที่จะทำ  ในการดำเนินการดังกล่าวผู้วิจัยจะต้องมีทักษะสำคัญ 2 ประการ
1. ทักษะการสืบค้นและการคัดเลือกวรรณกรรม  ที่ตรงหรือสอดคล้องหรือสำคัญต่องานวิจัยที่จะทำ
2. ทักษะการวิเคราะห์วรรณกรรมเชิงลึก ผู้วิจัยต้องพิจารณาว่าวรรณกรรมที่คัดเลือกมาแต่ละเรื่องมีจุดเด่นจุดด้อยอะไร มีความสอดคล้องและความครอบคลุมงานวิจัยที่จะทำอย่างไร รวมทั้งต้องพิจารณาความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของวรรณกรรมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมที่มีความลำเอียงด้านใดด้านหนึ่ง
          จุดมุ่งหมายของการทบทวนวรรณกรรม
          จุดมุ่งหมายของการทบทวนวรรณกรรมมีด้วยกันอย่างน้อย 4 ประการ  คือ
      1. ให้ผู้อ่านเห็นว่าผู้วิจัยรู้จักวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัย รู้เนื้อหาสาระของเรื่องที่จะวิจัยดี รู้ประเด็นสำคัญ วัตถุประสงค์ และคำถามการวิจัยที่จะทำอย่างดี การทบทวนวรรณกรรมที่ดีทำให้ผู้อ่านงานวิจัยเกิดความเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถและความรู้เดิมของผู้วิจัย
      2. แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของงานวิจัยที่มีอยู่กับงานวิจัยที่จะทำ การทบทวนวรรณกรรมเป็นการกำหนดทิศทางการวิจัยเพื่อหาคำตอบหรือตอบคำถามการวิจัยและแสดงถึงการพัฒนาความรู้ การทบทวนวรรณกรรมที่ดีจะทำให้บริบทของการวิจัยชัดเจนและแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของวรรณกรรมกับองค์ความรู้ที่จะศึกษา
      3.  สรุปรวมเอาข้อค้นพบที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน การทบทวนวรรณกรรม คือ การดึงเอาข้อมูลที่เป็นผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมารวมกันแล้ววิเคราะห์สังเคราะห์เชิงลึก ทำให้มองเห็นการวิจัยที่สอดคล้องกัน การวิจัยที่ขัดแย้งกัน และปัญหาที่ยังรอการศึกษาวิจัยมีอะไรบ้าง การทบทวนวรรณกรรมต้องรวบรวมงานวิจัยที่ทำเสร็จแล้วให้มากที่สุด และชี้ทิศทางการวิจัยในอนาคตว่าอนาคตต้องทำวิจัยอะไรต่อ
      4.  เรียนรู้งานวิจัยของคนอื่นและกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ การทบทวนวรรณกรรมจะอธิบายผลงานวิจัยของคนอื่นที่คนอื่นพบข้อมูลคำตอบอะไรแล้วบ้าง งานวิจัยของนักวิจัยอื่นๆ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่องานวิจัยที่จะทำ เพราะงานวิจัยของคนอื่นจะบอกขั้นตอน เทคนิคการวิจัย และการออกแบบการวิจัยซึ่งผู้วิจัยอาจยืมไปใช้ในงานวิจัยของตน
องค์ประกอบของการทบทวนวรรณกรรม
การทบทวนวรรณกรรมควรพิจารณาองค์ประกอบของวรรณกรรมที่ทบทวน 3 ส่วนคือ
1.  ส่วนนำ
2.  ส่วนเนื้อหา (ส่วนกลาง  )
      3.  ส่วนสรุป
1.  ส่วนนำ  ประกอบด้วยข้อมูลต่อไปนี้
      1.1 อธิบายความหมายของชื่อเรื่องที่วิจัยพร้อมทั้งบอกขอบเขต บริบทของการ
ทบทวนวรรณกรรม
1.2 บอกเหตุผลของผู้วิจัยในการทบทวนวรรณกรรม
1.3 บอกวิธีการเรียบเรียง การทบทวนวรรณกรรม ( เขียนอย่างไร  แบ่งเนื้อหา
ออกเป็นกี่ตอน กี่ส่วน )
1.4 ระบุให้ชัดเจนว่าทบทวนวรรณกรรมอะไรบ้าง วรรณกรรมที่ไม่ทบทวนมีอะไร
บ้าง
2.   ส่วนเนื้อหา  ( ส่วนกลาง )  ประกอบด้วยข้อมูลดังนี้     
2.1 เรียบเรียงวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องตามหัวข้อใหญ่และย่อยที่กำหนด
2.2 แสดงความสัมพันธ์สอดคล้องระหว่างเรื่องที่จะศึกษากับวรรณกรรม
2.3 ทบทวนประเด็นกว้างๆ ไปสู่ประเด็นปัญหาที่เจาะจง (ปัญหาหรือโจทย์วิจัยที่
เฉพาะเจาะจง)
3.   ส่วนสรุปของการทบทวนวรรณกรรม ประกอบด้วยข้อมูลดังนี้
3.1 สรุปการประเมินความทันสมัยของวรรณกรรมที่ได้ทบทวนสนับสนุนงานวิจัยที่จะทำ  (ประเด็นหลักอะไรบ้างจากการทบทวนที่สนับสนุนงานวิจัยที่จะทำ)
3.2 สรุปการประเมินความทันสมัยของวรรณกรรม
3.3 ชี้ช่องว่าง จุดด้อยหลักๆ ของวรรณกรรมที่ทบทวน
               3.4 ระบุประเด็นที่เกี่ยวข้องในวรรณกรรมกับการวิจัยที่จะทำ  (มีประเด็นอะไรบ้างในวรรณกรรมที่สอดคล้องหรือตรงกับงานวิจัยที่จะทำ)

กระบวนการทบทวนวรรณกรรม
           การค้นคว้าวรรณกรรมเพื่อศึกษาให้ได้ประสิทธิภาพ ผู้วิจัยควรมีการวางแผนดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การศึกษาได้ข้อมูลครบตามขอบเขตการศึกษา ตรงกับวัตถุประสงค์ และไม่เสียเวลามาก ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการ ดังนี้
1.  กำหนดเรื่อง หัวเรื่อง ให้ชัดเจน
2.  กำหนดขอบเขตและประเภทของข้อมูลที่ต้องการ
3.  กำหนดประเภทวรรณกรรม
4.  เลือกแหล่งค้นคว้า
5.  ปฏิบัติการค้นหา
6.  อ่าน บันทึกข้อมูล
           ผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำวิจัย หรือผู้เริ่มทำวิจัยมักประสบปัญหาเกี่ยวกับการค้นคว้า รวบรวมวรรณกรรมต่างๆ การจัดระบบวรรณกรรมที่รวบรวมมาได้ และการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผลการศึกษาของผู้ที่เคยศึกษาวิจัยมาแล้วให้เป็นหมวดหมู่ โดยปกติแล้วระยะเวลาในการศึกษาวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจะใช้ระยะเวลาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ระดับของการวิจัย ปัญหาการวิจัยว่าต้องการข้อมูลมากน้อยแค่ไหน รวมถึงความยากง่ายของการได้วรรณกรรมและข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการศึกษาวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อาจแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอนคือ
1.       ค้นหา
2.       อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์
3.       เขียนเรียบเรียง

          1.  ขั้นค้นหา ผู้วิจัยจะต้องจำกัดขอบเขตของเนื้อหาที่ต้องการศึกษาก่อนลงมือค้นคว้า เพื่อให้การค้นหาวรรณกรรมมีความเฉพาะเจาะจง จะช่วยประหยัดเวลาการรวบรวมวรรณกรรมต่างๆ จากนั้นผู้วิจัยจะต้องค้นหาข้อมูล วรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่จะทำทั้งหมด โดยพยายามให้ครอบคลุมทั้งเนื้อหา ประเด็นต่างๆ ที่ควรกำหนดไว้ในปัญหาและวัตถุประสงค์ รวมถึงครอบคลุมระยะเวลาของการวิจัยที่ทำมาแล้วความครอบคลุมในแง่ของเวลาไม่สามารถกำหนดแน่นอนว่า ควรค้นหางานวิจัยย้อนหลังไปนานสักกี่ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาการวิจัยนั้นมีผู้เคยศึกษาไว้มากน้อยเพียงใด ถ้ามีผู้ศึกษาไว้มากและศึกษาติดต่อกันมาเรื่อยๆ คงใช้เวลาครอบคลุม 3 ถึง 5 ปี แต่ถ้ามีผู้ศึกษาไว้น้อย และเว้นระยะห่าง อาจใช้เวลาย้อนหลังไปมากกว่านั้น มีข้อสังเกต ว่าถ้าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับทฤษฎีหรือแนวความคิดเชิงทฤษฎี หรือรูปแบบจำลอง ที่ผู้วิจัยจะต้องนำมาใช้ในงานวิจัย จำเป็นที่จะต้องรวบรวมวรรณกรรมที่เป็นต้นฉบับเหล่านั้นมาให้ได้ ไม่ว่าจะศึกษามานานแค่ไหนก็ตามการศึกษาค้นคว้ามาก-น้อย ขึ้นอยู่กับ
      1.1 ภูมิหลังของผู้วิจัย
      1.2 ความซับซ้อนของงานวิจัยที่จะทำ ถ้าเป็นเรื่องใหม่ไม่เคยมีคนทำ การค้นคว้าอาจไม่กว้างมาก
      1.3 วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง มีการตีพิมพ์มากหรือน้อย ถ้ามีคนศึกษาวิจัยมาก ต้องค้นมาก สิ่งสำคัญในการพิจารณา ไม่เน้นจำนวน เน้นคุณภาพโดยดูจากการมีผู้รับรอง และเนื้อหามีความเกี่ยวข้อสัมพันธ์กับงานที่จะทำ
แหล่งศึกษาค้นคว้าที่สำคัญคือ ห้องสมุด เพราะเป็นที่รวมของหนังสือ ตำรา วรรณกรรมต่างๆ รวมถึง วารสาร รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ รายงานสถิติต่างๆ ผู้วิจัยสามารถค้นหาความรู้เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัยจากแหล่งย่อยๆ ต่อไปนี้
      1. หนังสือ ตำราเกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัย
               2. ปทานุกรม ที่รวบรวมผลงานวิจัยสาขาต่างๆ และสารานุกรมที่เกี่ยวข้อง
               3. วารสารทางการวิจัยสาขาต่างๆ ตลอดจนจุลสารและวรรณกรรมเผยแพร่
               4. ปริญญานิพนธ์ วิทยานิพนธ์ ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และเอก
               5. หนังสือรวมบทคัดย่อปริญญานิพนธ์ วิทยานิพนธ์
               6. หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อาจมีบทความบางเรื่องใช้อ้างอิงได้
รายการวรรณกรรมทั้งหมดที่ได้มาต้องนำไปพิจารณากลั่นกรอง เลือกเอาเฉพาะวรรณกรรม รายงาน ที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการนั้นๆ และเลือกเอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องจริงๆกับปัญหาการวิจัยเท่านั้น หากการค้นคว้าหาวรรณกรรมที่ตรงกับเรื่องที่ทำวิจัยโดยตรงไม่ได้ ผู้วิจัยก็จะต้องพยายามศึกษาวรรณกรรมที่ใกล้เคียงกัน
หลักเกณฑ์การเลือกทบทวนวรรณกรรม
      เนื่องจากวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อปัญหาการวิจัยมีจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ผู้วิจัยไม่สามารถศึกษาวรรณกรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน ผู้วิจัยควรพยายามเลือกวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมากที่สุด จึงจะเป็นประโยชน์และประหยัดเวลา โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกวรรณกรรมดังนี้
               1.  เนื้อหา เลือกพิจารณาวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเชิงทฤษฎี หรือผลการวิจัยที่ใกล้เคียงกับเรื่องที่กำลังทำวิจัยให้มากที่สุด และครอบคลุมตัวแปรที่ศึกษามากที่สุด และมีกระบวนการคิดหรือระเบียบวิธีวิจัยที่เหมาะสม มีเชิงอรรถ บรรณานุกรม สามารถตรวจสอบได้ และเป็นแนวทางในการค้นคว้าต่อไป การศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางการพยาบาลนั้น ผู้วิจัยควรเลือกศาสตร์ทางการพยาบาลเป็นหลัก
      2.  ความทันสมัย เลือกใช้วรรณกรรมหรือผลงานวิจัยที่ให้ความรู้ใหม่ๆ เนื่องจากความรู้และวิทยาการเปลี่ยนแปลงเร็ว
      3.  ประวัติผู้เขียนหรือผู้วิจัย ควรเลือกผลงานที่เรียบเรียงหรือจัดทำโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในสาขานั้นเป็นอย่างดี จะทำให้มีความมั่นใจในคุณภาพผลงาน ถ้าเป็นงานวิจัยวิทยานิพนธ์ หรือ สารนิพนธ์ ที่นิสิตนักศึกษาทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ผู้วิจัยควรพิจารณาถึงสถาบันการศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย เพราะความเคร่งครัดในระเบียบวิธีการวิจัยของแต่ละสถาบันแตกต่างกัน
               4.  สำนักพิมพ์ ควรพิจารณาชื่อเสียงของสำนักพิมพ์ด้วย ซึ่งจะทำให้เรามีความมั่นใจในคุณภาพผลงานระดับหนึ่ง เพราะสำนักพิมพ์ที่น่าเชื่อถือบางแห่งจะคัดเลือกเฉพาะวรรณกรรม ตำรา หรือผลงานที่ดีๆ เท่านั้นออกมาตีพิมพ์
               5.  ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ผู้วิจัยต้องตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่ค้นคว้ามาว่ามีความถูกต้องแม่นยำเพียงใด โดยตรวจสอบกับข้อมูลที่มีอยู่แล้วหรือข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ถ้ามีความผิดพลาด ควรตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีข้อมูลในส่วนอื่นผิดพลาดได้อีก
แหล่งศึกษาค้นคว้า
      1. ปฐมภูมิ (primary source) ศึกษาจากบทความ รายงานจากผู้ต้นคิดเขียนเอง เจ้าของทฤษฎี เจ้าของงานวิจัย
      2. ทุติยภูมิ (secondary source) ได้แก่ ข้อความที่อ้างจากของผู้อื่นมาอีกครั้ง ในการทำวิจัยพยายามเลี่ยงข้อมูลทุติยภูมิ เพราะผู้อ้างจะมีความคิดเห็นของเขาปนเข้ามา การตีความของผู้อ้างอาจมีการบิดเบือนหรือตีความผิด แต่ อาจใช้ได้กรณีไม่สามารถหาข้อมูลปฐมภูมิได้ หรือ ผู้เขียนคนที่สอง มีข้อแสดงความคิดเห็นสามารถอ้างอิงได้และจะกลายเป็นข้อมูลปฐมภูมิ

          2.  ขั้นอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้วิจัยใช้เวลานานมากที่สุด เพราะจะต้องเลือกวรรณกรรมที่คัดกรองมาได้จากขั้นแรก นำมาอ่านรายละเอียด แล้วเลือกเรื่องที่เกี่ยวข้องมากที่สุดอีกครั้ง หากเป็นงานวิจัย พิจารณาระเบียบวิธีวิจัยและผลงานวิจัยนั้นๆ ที่น่าเชื่อถือ เหมาะที่จะนำไปอ้างอิงในงานวิจัยของตน ผู้วิจัยอาจจะต้องค้นหาวรรณกรรมและรายงานวิจัยฉบับเต็มมาอ่านรายละเอียดอย่างพินิจพิเคราะห์
ในการอ่านรายละเอียดผู้วิจัยควรจดบันทึกโดยสรุปด้วยคำพูดของผู้วิจัยเอง หรือคัดลอกข้อความในส่วนที่สำคัญแต่ละเรื่องเอาไว้ เพื่อสะดวกในการค้นหาภายหลัง
ข้อมูลที่บันทึกในงานวิจัยประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
      1.  ส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด ทฤษฎี (theoretical)
      2.  ส่วนที่เกี่ยวกับงานวิจัย และการศึกษา (empirical)

          3.  ขั้นเขียนเรียบเรียง ข้อมูลที่วิเคราะห์ออกมาได้ทั้งหมดจากการอ่าน ผู้วิจัยต้องนำมาเรียบเรียงเชื่อมโยงประสานเข้าด้วยกัน เนื้อหาการเขียน แต่จะต้องมีโครงสร้างหลักในการเขียนเป็นของผู้วิจัยเอง ที่กำหนดโดยใช้ความคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ที่ได้จากการอ่าน ค้นคว้า ให้เข้าประเด็นปัญหาวิจัยของตน และเรียบเรียงเนื้อหาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ในเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ มิใช่เป็นการนำข้อค้นพบที่บันทึกไว้ของแต่ละส่วนมาเรียงต่อกันความยากของการเขียนเรียบเรียงสิ่งที่อ่านและวิเคราะห์ออกมาได้ทั้งหมด อยู่ที่การวางโครงสร้างของเรื่อง และการเชื่อมโยงให้เห็นประเด็นปัญหาการวิจัยอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเทคนิคและศิลปที่ผู้วิจัยต้องฝึกฝนเอง หลักสำคัญในการเขียน คือ ผู้วิจัยจะต้องแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ได้ศึกษามามีอะไรบ้าง ค้นพบความรู้ใหม่ๆอะไร สิ่งไหนเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้ว สิ่งไหนค้นพบใหม่ ยังมีช่องว่างตรงจุดไหนอีกในส่วนข้อมูลที่เป็นการแสดงความคิดเห็น การชี้จุดประเด็นสำคัญ และการสรุปผลของการวิจัย ต้องมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลกำกับไว้ด้วยเสมอ การเขียนเรียบเรียง ผู้วิจัยต้องเขียนด้วยใจเป็นกลาง ไม่มีอคติ เสนอข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน
รูปแบบการเขียน ในส่วนของการศึกษาวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่จะเขียนเป็นการเชื่อมโยงผลการวิจัยที่ค้นพบอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีการวิเคราะห์วิจารณ์เพิ่มเติม ทั้งนี้เพราะการเขียนเรียบเรียงในลักษณะที่มีการวิเคราะห์วิจารณ์เป็นเรื่องยาก ต้องยึดหลักทางวิชาการไว้เสมอ ไม่ใช้ความคิดส่วนตัวสอดแทรกเข้าไปในการวิจารณ์ ผู้ที่จะเขียนได้ในลักษณะนี้จึงเป็นผู้รู้หรือเกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัยนั้นมานานและมีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยมากพอควร


 แหล่งสารสนเทศทางการวิจัย

การรวบรวมวรรณกรรมทีเกี่ยวข้องกับการวิจัยผู้วิจัยจะศึกษารวบรวมจากสารสนเทศประเภทต่างๆ ดังนี้
1. บทความวารสาร ( Journal Articles ) เนื้อหาที่ทันสมัย มีความยาวพอเหมาะกับการอ่านเพื่อทำวิจัย บทความมักถูกกลั่นกรองโดยคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้จัดพิมพ์
2. หนังสือ  ( Books )  ไม่เหมาะกับการอ่านทบทวนเพื่อวิจัย แต่เหมาะกับการเรียนการสอนอาจมีหนังสือบางประเภทที่ใช้เนื้อหาบางส่วน เช่น Dictionaries, Encyclopedias และ Directories
3. รายงานการประชุม  สัมมนา  (Conference Proceedings )   มีประโยชน์ในการวิจัย เพราะงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมสัมมนา ยังไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ให้ข้อมูลวิจัยใหม่ ใช้ค้นหางานวิจัยของนักวิจัยคนใดคนหนึ่ง
4. รายงานของหน่วยงานรัฐบาล/รายงานของบริษัทหน่วยงานเอกชน (Government  Reports/ Corporate Report)    หน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานเอกชนหลายแห่งทำวิจัย ผลการวิจัยมีประโยชน์ต่อวิจัยของผู้อ่าน                  
5. หนังสือพิมพ์ (Newspapers) มีประโยชน์ไม่มากต่อการวิจัย เพราะเป็นเอกสารเขียนให้คนทั่วไปอ่านแต่มีสารสนเทศใหม่ เช่น แนวโน้ม การค้นพบหรือการเปลี่ยนแปลง (ประกาศนโยบายใหม่ของรัฐบาล) แต่ควรค้นหารายละเอียดจากแหล่งสารสนเทศอื่น
6. วิทยานิพนธ์ (Theses) ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นแหล่งสารสนเทศที่มีประโยชน์ต่อการวิจัย แต่มีขีดจำกัดในการเข้าถึง 1) หายาก เนื่องจากไม่จัดพิมพ์จำหน่าย แม้จะมีเผยแพร่ในฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์อีเล็กทรอนิกส์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ  2) นักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ยังมีประสบการณ์ทางวิชาการน้อย ผู้อ่านจำต้องใช้ผลการวิจัยในวิทยานิพนธ์ด้วยความระมัดระวัง
7. อินเทอร์เน็ต (Internet ) สารสนเทศจำนวนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้สารสนเทศ  Internet  ให้คำนึงว่า  1) ใครๆ ก็นำสารสนเทศพิมพ์ใน  www/Internet ได้ ฉะนั้นคุณภาพและความน่าเชื่อถือมีแตกต่างกัน  2) สารสนเทศบน Internet อาจเขียนสำหรับผู้อ่านทั่วไปไม่เหมาะกับการอ่านทบทวนเพื่อทำวิจัย  3) วารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีกองคณะกรรมการบรรณาธิการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบเนื้อหา มีความน่าเชื่อถือมากกว่า
8.  ซีดี รอม (CD-ROMS)   มีซีดี รอมจำนวนน้อยที่มีเนื้อหาเหมาะกับการอ่านเพื่อทำวิจัย แต่เป็นเครื่องมือค้นหาสารสนเทศวิจัยได้ดี
9.  นิตยสาร (Magazines) ไม่เหมาะกับการอ่านบททวนเพื่อวิจัย เพราะเขียนให้คนทั่วไปอ่าน เช่น  Time, Newsweek  แต่อาจใช้เริ่มต้นงานวิจัยโดยการติดตามเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในนิตยสาร
           การสืบค้นสารสนเทศเพื่อทบทวนวรรณกรรม
                หลังจากเลือกเรื่องที่ต้องการเขียนแล้ว ผู้เขียนจะค้นหาสารสนเทศเพื่อวางโครงเรื่องและเพื่อเขียน และสารสนเทศที่ค้นหาต้องสอดคล้องหรือตรงกับเรื่องที่จะเขียน โดยทั่วไปสารสนเทศที่ต้องการมี 2 ประเภท
1.  สารสนเทศปฐมภูมิ เป็นข้อมูลดิบที่ยังไม่ผ่านการสังเคราะห์หรือประมวล  ได้แก่
1.1   ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ วัน เดือน ปี หรือเวลาของเหตุการณ์
1.2   สถิติ การสำรวจสำมะโนประชากร ข้อมูลสำรวจความคิดเห็น
1.3    ข้อมูลการสัมภาษณ์ บันทึกส่วนตัว
1.4    เอกสาร สัญญาหรือข้อตกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของทางราชการ
1.5    วรรณกรรม กลอน โคลง บทละคร บทกวี นวนิยาย
1.6    ข้อโต้แย้งทางความคิดเห็น
                   2.  สารสนเทศทุติยภูมิ คือ ข้อมูลที่นักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาได้สังเคราะห์โดยการตีความหมายหรือแปลความอธิบาย โต้แย้ง หรือให้เหตุผลต่อข้อมูลเหล่านั้นซึ่ง ได้แก่
            2.1  หนังสือ
                 2.2  วารสาร
                 2.3  ต้นฉบับตัวเขียน
                 2.4  สารสนเทศบน  WWW.
เครื่องมือสำหรับเข้าถึงตัวสารสนเทศ
               การที่จะได้รับสารสนเทศที่ต้องการ ผู้วิจัยต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ  ที่จะนำผู้วิจัยให้ไปถึงตัวสารสนเทศ เช่น
      1.   Open Public Access Catalog (OPAC )
               2.   Journal Indexes Abstracts
                3.   Newspaper Indexes
               4.   LC Subject Headings Index
               5.   Internet Resources / Search Engines
               6.   Knowledgeable People
               7.   Reference Librarians

สารสนเทศบน WWW.
               สารสนเทศบน WWW. มีมากมายมหาศาลทั้งสารสนเทศที่มีคุณภาพ และสารสนเทศน้อยคุณค่าหรือที่เรียกว่าสารสนเทศขยะ ปัจจุบันเราสามารถค้นหาสารสนเทศทุกเรื่องบน WWW. เพราะมีผู้ผลิตและจัดทำสารสนเทศหลายกลุ่ม ได้แก่
               1.   สารสนเทศที่ผลิตโดยธุรกิจ เป็นสารสนเทศที่บางครั้งเรารำคาญเพราะเจ้าของธุรกิจต้องการขายสินค้าบน WWW. มักจะลงท้ายด้วย .com ย่อมาจาก commerce
               2.  สารสนเทศที่ผลิตโดยสำนักพิมพ์ สำนักข่าว สำนักหนังสือพิมพ์ เป็นสารสนเทศที่ต้องอาศัยรายได้จากการโฆษณานานๆ ครั้งผู้ผลิตสารสนเทศยอมให้เราอ่านบทความโดยไม่ต้องจ่ายค่าบทความทั้งนี้เพราะผู้ผลิตต้องการโน้มน้าวให้เราซื้อหนังสือหรือบอกรับวารสารหรือข่าวของเขา หนังสือพิมพ์บางฉบับ ให้อ่านข่าวย่อ ถ้าจะอ่านรายละเอียดของข่าวต้องจ่ายเงิน
               3.  สารสนเทศที่ผลิตโดยองค์การที่ไม่แสวงหากำไร เป็นสารสนเทศที่เกี่ยวกับผลงานขององค์การที่ต้องการรายงานให้ประชาชนได้ทราบ ลงท้ายด้วย .or หรือ .org ย่อมาจาก organization
                   4.  สารสนเทศที่ผลิตโดยรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่นเป็นสารสนเทศที่เป็นผลงาน แผนงานและการดำเนินของรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ต้องเผยแพร่สารสนเทศข่าวสารให้สาธารณชนทราบการเผยแพร่บน WWW. สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการจัดพิมพ์สารสนเทศ ลงท้ายด้วย .go หรือ .gov  ย่อมาจาก government
               5.  สารสนเทศที่ผลิตโดยสถาบันการศึกษา เป็นสารสนเทศทางวิชาการซึ่งปัจจุบันยังมีน้อยทั้งๆ ที่การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการบน WWW. ราคาถูกกว่าการจัดพิมพ์วารสารวิชาการ ลงท้ายด้วย .ac หรือ ed. ย่อมาจาก academic หรือ education
Search Engines (SE)
               เป็นเครื่องมือค้นสารสนเทศบน WWW.  SE  เปรียบเสมือนแมงมุมที่กระโดดไปยัง Websites  ต่างๆ  SE  ที่ใช้กันมากได้แก่
               1.  Allthe Web เป็น SE ใหญ่ตัวหนึ่งที่มีความรวดเร็วสามารถเขาไปค้น Websites ที่ให้สารสนเทศที่เป็นเสียง ภาพ หรือข่าวมีหน้าต่างทั้งการค้นแบบจ่ายและค้นขั้นสูง ( Simple + Advanced Searches )
      2.  Alta Vista เป็น SE เก่า ที่มีลักษณะพิเศษค้นได้ทั้งนามานุกรม ภาพ เสียง วีดีทัศน์หรือข่าว
               3.  Google เป็น SE ที่มีผู้นิยมใช้อย่างแพร่หลายซึ่งผู้ค้นจะได้รับสารสนเทศตรงกับความต้องการอย่างหลากหลาย
               4.  Yahoo  เป็น SE ตัวแรกๆ ที่ใช้ท่องบน WWW.
              5.  Wisenut  เป็น SE ตัวใหม่ที่อ้างว่าสามารถเข้าไปค้น Websites ได้ถึงหนึ่งพันห้าร้อยล้าน  Websites
               6.  Teoma เป็น SE ตัวใหม่ค้น Websites ได้ไม่มากนัก
          ขั้นตอนการค้นหาสารสนเทศ
      1. วิเคราะห์เรื่องหรือชื่อเรื่องที่ต้องการเขียนว่าเรื่องนั้นๆ  ประกอบด้วยสาระสำคัญ/หรือสาระหลักต้องการบอกหรือสื่อให้คนอ่านรู้
      2.  กำหนดคำค้น/คำสำคัญ(Key  words) สำหรับเป็นแนวทางในการสืบค้นเช่น  ต้องการเขียนเรื่อง  The Impact of Tourism on the Environment in Polar Regions  เรื่องนี้มีสาระหลักสำคัญ  3  อย่างคือ
     Tourism
       Environment
       Polar Regions
     คำค้นอาจใช้คำ  3  กลุ่ม  นี้เป็นคำค้นและอาจมีคำอื่นๆ  ที่ใกล้เคียงกับคำเหล่านี้ช่วยหากทั้ง  3  กลุ่มยังไม่ทำให้ได้รับสารสนเทศมากเพียงพอ
               3.  จำกัดและขยายการค้นหา  สารสนเทศ  โดยใช้คำหรือเครื่องหมายต่อไปนี้ช่วย
                       3.1   ” ………….”  หรือคำอื่นที่ใกล้เคียง
                       3.2   And         จำกัดการค้น
                       3.3   OR  ขยายขอบเขตของเรื่องที่ค้น 
                       3.4   AND  NOT  จำกัดการค้นและตัดคำที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป
 
 การรวบรวมวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
การเลือกวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
การพิจารณาเลือกสรรวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมีหลักการพิจารณาดังนี้
      1.   เนื้อหา  วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องต้องมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผู้วิจัยกำลังจะทำ มีแนวคิดทฤษฎีและวิธีการวิจัยที่เหมาะสม มีการอ้างอิงที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้และเป็นแนวทางในการค้นคว้าต่อไป
      2.  ความทันสมัย วรรณกรรมที่เลือกควรเป็นวรรณกรรมที่ทันสมัยแสดงให้เห็นความรู้ใหม่ๆ  โดยเฉพาะงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ การอ้างอิงเอกสารที่ทันสมัยมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะวิทยาการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก
      3. ผู้เขียน  การเลือกผู้เขียนที่มีประสบการณ์ มีคุณวุฒิเหมาะสมกับสาขาวิชาที่ทำการวิจัย เป็นผู้เชี่ยวชาหรือผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานั้นๆจะทำให้มั่นใจได้ว่าผลงานหรือเอกสารต่างๆน่าเชื่อถือ
      4.  ความน่าเชื่อถือของข้อมูล  ควรตรวจข้อมูลที่อ้างอิงว่าถูกต้องหรือไม่ ข้อมูลต่างๆ ผิดพลาดหรือไม่
      5.  สำนักพิมพ์   ผู้วิจัยควรพิจารณาสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงเพราะก่อนการพิมพ์จะมีการตรวจสอบคุณภาพอย่างดีทำให้เชื่อมั่นได้ว่าผลงานนั้นดี
          การรวบรวมวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
                   การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นการอ่านทบทวนวรรณกรรมต่างๆ ที่มีหลายประเภทและอยู่ในที่ต่างๆ  การรวบรวมวรรณกรรม คือ การเก็บรายละเอียดเรื่องที่อ่านบันทึกไว้ใช้ประโยชน์ในการวิจัยต่อไป การรวบรวมวรรณกรรมที่นิยม คือ การบันทึกลงในบัตรขนาด 5" x 8" เพื่อช่วยให้ผู้วิจัยสามารถค้นข้อมูลได้สะดวกได้ในภายหลัง การบันทึกลงบัตรขนาด 5"×8" นิ้วมีแบบฟอร์ม ดังนี้

 
                                                                                                                        

Keyword-------------------------------------

Authors---------------------------------------------------------------------------------------------------------

Title----------------------------------------------------------------------------------------Date---------------

Publishers/Subject--------------------------------------------Place/Volume/copy---------------------

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------



                   การบันทึกอาจบันทึกโดยสรุป คือบันทึกเฉพาะใจความสำคัญ บันทึกแบบวิจารณ์ คือแสดงความคิดเห็น หรือคัดลอกมาทั้งหมด ทั้งนี้ผู้วิจัยต้องเข้าใจเนื้อหาที่ทบทวนทั้งหมด
         
          สำหรับการอ่านงานวิจัย เพื่อให้ผู้อ่านได้ข้อมูลจากการอ่านไปใช้ประโยชน์ในการวิจัยของตน ควรบันทึกอีกแบบหนึ่งอาจจะใช้แบบฟอร์มดังนี้
ชื่อผู้แต่ง.  (ปีพิมพ์). ชื่อเรื่อง. ผู้รับผิดชอบ หรือ สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์,  จำนวนหน้า. 

วัตถุประสงค์
วิธีการศึกษา
ผลการศึกษา
หมายเหตุ












          ข้อเสนอแนะการเรียบเรียงวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
                   ในรายงานการวิจัยการทบทวนวรรณกรรมจะจัดไว้ในบทที่ 2  อาจเรียกว่า " เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง"   "การตรวจเอกสาร"  หรือ " วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง"  ในบทนี้จะมีลักษณะเป็นการเรียบเรียงความรู้ ทฤษฎี แนวคิด และการวิจัยอื่นๆ ที่มีผู้ศึกษาค้นคว้าไว้แล้ว นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยมีการอ้างอิงให้เหมาะสม ซึ่งการอ้างอิงต้องเขียนตามความนิยมของสาขาวิชา เช่น สายวิทยาศาสตร์ มักอ้างในระบบนามปี คือ ชื่อผู้เขียน และปีพิมพ์ ส่วนสายศิลปะศาสตร์ มักอ้างในระบบ APA คือ ชื่อ นามสกุล ปีพิมพ์ และเลขหน้า  หรืออาจใช้การอ้างอิงแบบเชิงอรรถ  ทั้งนี้อาจเลือกใช้ให้เหมาะสมและใช้เพียงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการเขียนการททบทวนวรรณกรรมมีข้อเสนอแนะดังนี้ (บุญชม, 2532)
               1.  เสนอแนวคิดตามทฤษฎี  แล้วจึงเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อาจแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อยลงไปไม่ควรนำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยมาเขียนไว้
               2.  แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเรื่องที่จะวิจัยนั้น กับผลการศึกษาค้นคว้าของคนอื่นๆ ในหัวข้อเดียวกัน
               3.  อธิบายปัญหาหรือสถานการณ์ที่ยังมีข้อสงสัย และความที่เป็นปัจจุบันในหัวข้อที่วิจัย
               4.  ไม่ควรใช้วิธีการนำเอาผลวิจัยของแต่ละคนมาเรียงต่อๆ กัน ผู้วิจัยจะต้องมีเค้าโครงการเขียนของตนเองโดยใช้หลักตามข้อหนึ่ง
               5.  กรณีที่มีผลการศึกษาขัดแย้งกัน ผู้วิจัยควรบรรยายทฤษฎีแต่ละทฤษฎีแล้วเสนอการอ้างอิง รวมทั้งผลงานการวิจัยที่สนับสนุนแต่ละทฤษฎี
               6.  ใช้วิธีการวิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัย การวิเคราะห์คือ การแยกแยะจัดเข้าหมวดหมู่ ชี้ความสัมพันธ์และจุดเด่นหรือจุดที่สำคัญ ส่วนการสังเคราะห์เป็นการนำเอาตั้งแต่ 2 สิ่งขึ้นมาประกอบกันเป็นสิ่งใหม่เนื้อหาใหม่ อาจสังเคราะห์เชิงคุณลักษณะ ( Qualitative) หรือสังเคราะห์เชิงปริมาณ ( Quantitative) ดังเช่นเทคนิคของ Meta  Analysis  เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการเรียบเรียงวรรณกรรมมิใช่การตัดแปะแต่เป็นการเขียนขึ้นใหม่ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของเนื้อหา ฉะนั้นผู้วิจัยควรกำหนดหัวข้อจากเอกสารต่างๆ หากไม่สามารถกำหนดได้ ให้แยกเป็นส่วนๆ เช่น เอกสารที่เกี่ยวข้อง  งานวิจัยภายในประเทศ  และงานวิจัยต่างประเทศ เป็นต้น
 


บรรณานุกรม
กลุ่มงานฝึกอบรมการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.).  2547.  ตำราชุดฝึกอบรมหลักสูตร
“นักวิจัย”.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.). 
กิตติพันธ์  คงสวัสดิ์เกียรติ, ไกรชิต  สุตะเมือง, เฉลิมพร  เย็นเยือก, และเรวดี  อันนันนับ.  2552.  ระเบียบวิธี
          วิจัยทางธุรกิจ.  กรุงเทพฯ: เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น.
นราศรี  ไววนิชกุล และ ชูศักดิ์  อุดมศรี.  2551.  ระเบียบวิธีวิจัยธุรกิจ.  พิมพ์ครั้งที่ 18.  กรุงเทพฯ:
          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์.  2547.  ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์.  พิมพ์ครั้งที่ 8.  กรุงเทพฯ : ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
ปัญญา  ธีระวิทยเลิศ.  2547. ปฏิบัติการวิจัย.  กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. 
พรทิพย์  อุดมสิน และ บุญศรีพรหมาพันธุ์.  2550.  ความรู้พื้นฐานในการวิจัย.” ใน  เอกสารการสอนชุดวิชาการวิจัยเบื้องต้นทางสารสนเทศศาสตร์.   หน่วยที่ 1.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  นนทบุรี: สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
พวงรัตน์  ทวีรัตน์.  2543.  วิธีวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์.  พิมพ์ครั้งที่  8.  กรุงเทพฯ: สำนักนักงานทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา.  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร. 
พิชิต  ฤทธ์จรูญ.  2544.  การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ : ปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน.  กรุงเทพฯ: สถาบันราชภัฏพระนคร.
เพ็ญแข  แสงแก้ว.  2541.  การวิจัยทางสังคมศาสตร์.  ปทุมธานี: ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มนสิช  สิทธิสมบูรณ์.  2547.   ระเบียบวิธีวิจัย.  พิษณุโลก:  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.
ยุทธพงษ์  ไกรวรรณ์.   2545. พื้นฐานการวิจัย ฉบับปรับปรุงใหม่.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.
ลัดดาวัลย์  เพชรโรจน์ และ อัจฉรา  ชำนิประศาสตร์.  2547.  ระเบียบวิธีการวิจัย.  กรุงเทพฯ: พิมพ์ดีการพิมพ์.
วัชราภรณ์  สุริยาภิวัฒน์.  2546.  วิจัยธุรกิจยุคใหม่.  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สิน  พันธุ์พินิจ.  2547.  เทคนิคการวิจัยทางสังคมศาสตร์.  กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์.
สุวิมล  ติรกานันท์.  2548.  ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ : แนวทางสู่การปฏิบัติ.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ: จุลาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี  อ่อนสวัสดิ์.  2551.  ระเบียบวิธีวิจัย.  พิษณุโลก: ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.
Babbie, Earl R.  1986. The Practice of Social Research.  4th ed.  Belmont: Wadsworth.
Besic Business Research.  2011.  [Online] : Search on  November 29, 2011. Available form :           http://managementhelp.org/businessresearch/index.php.
Greener, S.  2008.  Business Research Method.  London: London Business School.  [Online]        : Search on            November 29, 2011. Available form : http://bookboon.com/en/      textbooks/marketing-          media/introduction-to-research-methods.
Wimmer, Roger. D. and Dominick, Joseph R.  1987.  Mass Media Research an Introduction.        2nd ed. Belmont: Wadsworth Publishing.
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น