วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การกำหนดปัญหาในการวิจัย



แหล่งที่มาของปัญหาในการวิจัยธุรกิจ

                แหล่งที่มาของปัญหาการวิจัยธุรกิจ คือ แหล่งที่จะทำให้นักวิจัยสามารถกำหนดปัญหาของการวิจัยทางธุรกิจได้ การกำหนดหัวข้อของปัญหาในการวิจัยธุรกิจ อาจมาจากหลายๆ แหล่ง  ได้แก่
                1.  การค้นคว้าเอกสารและผลงานวิจัยของผู้อื่น การค้นคว้าเอกสารต่างๆ เริ่มตั้งแต่บทความ  รายงานผลการวิจัย  สรุปผลการวิจัย บทคัดย่องานวิจัย  รายงานการประชุมทางวิชาการ  เอกสารตำรา ซึ่งอาจอยู่ในลักษณะเป็นรูปเล่มในห้องสมุดหรืออยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์  การอ่านเอกสารและผลงานวิจัยของผู้อื่นจะทำให้เกิดแนวความคิดหรือความสนใจต้องการที่จะทำวิจัยประเด็นทางธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา  ทำให้ได้หัวข้อการวิจัยได้
                2. จากประสบการณ์ของผู้วิจัยเอง การที่ผู้วิจัยมีประสบการณ์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะประสบการณ์ในการทำงานในหน้าที่หรือในธุรกิจ อาจเกิดปัญหาและแก้ไขไม่ได้ ทำให้เกิดแนวคิดในการแก้ปัญหา เช่น  ธุกิจจำหน่ายสินค้าของที่ละรึกและของฝากแก่นักท่องเที่ยวปกติมีผู้มาใช้บริการซื้อสินค้าตลอด ทำไมนักท่องเที่ยวลดลงยอดจำหน่ายลดลง  อาจทำให้เกิดแนวคิดในการสร้างแบบแบบประเมินความพึงพอใจเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ หาทางปรับปรุงแก้ไขและนำไปใช้ในโอกาสต่อไปได้
                3. จากข้อเสนอแนะจากงานวิจัย งานวิจัยทางธุรกิจในตอนท้ายๆ ของงานวิจัยแต่ละเรื่อง จะมีข้อเสนอแนวในการวิจัยครั้งต่อไปว่าควรจะศึกษาเรื่องอะไรเพิ่มเติม ทำให้เป็นช่องทางในการได้หัวข้อของปัญหาในการวิจัยได้
                4. จากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญ (Expert) จะเป็นผู้ที่คลุกคลีในแวดวงวิชาการในสาขาของตนมานานทำให้ทราบจุดเด่น จุดอ่อนของศาสตร์ที่ตนเกี่ยวข้อง  หากได้ร่วมรับฟังการบรรยาย พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลเหล่านั้น  จะทำให้ผู้วิจัยได้รับช่องทางในการวิจัยเพิ่มขึ้น
5. จากแหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย โดยปกติแหล่งทุนที่สนับสนุนการวิจัยจะกำหนดหัวข้อมาให้  ซึ่งการกำหนดอาจเป็นการกำหนดอย่างกว้างๆ  หรือกำหนดแบบเฉพาะเจาะจง  ผู้วิจัยจะต้องพิจารณาเรื่องที่กำหนดมาว่าอยู่ในความสนใจหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใด  เพื่อตัดสินใจทำวิจัย
6. จากแหล่งอื่นๆ เช่น จากการศึกษาดูงานธุรกิจที่มีลักษณะเดียวกันของผู้อื่นอาจทำให้เกิดแนวคิดการปรับปรุงธุรกิจของตนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เป็นต้น

การเลือกปัญหาในการวิจัยธุรกิจ
                ขั้นตอนแรกของการวิจัย คือ การเลือกหัวข้อสำหรับการวิจัยว่าจะทำเรื่องอะไร  ต่อมา คือ กำหนดประเด็นปัญหาการวิจัย การเลือกเรื่องที่จะทำวิจัยนั้นเป็นหัวใจของการวิจัย เพราะนอกจากหัวข้อที่จะทำวิจัยเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของตนแล้ว  จะต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกหลายประการ  เช่น  คณะกรรมการพิจารณางานวิจัย  ว่าเห็นความสำคัญของการวิจัยนั้นหรือไม่  ปัญหาเป็นอย่างไร  ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร เป็นต้น  เมื่อเลือกเรื่องได้แล้วต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายประการ อาทิ  เวลาที่ใช้ในการวิจัย ความยากง่าย เหมาะสมกับความรู้ และสามารถทำได้สำเร็จ งบประมาณมีมากน้อย  ความกว้างลึกของงานวิจัย  ดังนั้น การพิจารณาเลือกปัญหาในการวิจัยธุรกิจจึงควรคำนึกถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
                1.  ความสนใจของผู้วิจัย  การตัดสินใจเลือกปัญหาในการวิจัยต้องพิจารณาความสนใจของตนอย่างแท้จริง  หากเป็นปัญหาที่ผู้อื่นกำหนดให้ ผู้วิจัยต้องสร้างเจตคติที่ดีต่อหัวข้อนั้นๆ ก่อน  นอกจากผู้วิจัยสนใจเรื่องนั้นจริงๆ แล้ว  ต้องพิจารณาให้รอบคอบเกี่ยวกับประโยชน์ของงานวิจัย  ความทันสมัยและอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้คนสนใจ  มีเอกสารหรือผลงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควร ต้องทราบถึงตัวแปรที่ศึกษา ไม่มีผู้ใดทำมาก่อน  ไม่กว้างหรือแคบเกินไป  แสดงให้เห็นความคิดริเริ่มใหม่ๆ
                2.  ความสามารถของผู้วิจัย  การเลือกปัญหาการวิจัยจะต้องพิจารณาความสามารถของผู้วิจัยในด้านต่างๆ อย่างเที่ยงธรรม กล่าวคือ ผู้วิจัยมีความรู้ความสามารถที่จะดำเนินงานได้ทุกขั้นตอนหรือไม่ มีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยอยู่ในระดับใด เข้าใจวิธีการวิจัยและรูปแบบ  การวิจัยเพียงใด  มีความรู้เกี่ยวกับสถิติ สามารถใช้สถิติได้อย่างเหมาะสม มีความรู้ความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนการเขียนรายงานการวิจัย ถ้าพิจารณาความสามารถของตนอยู่ในเกณฑ์ใด  เพื่อเทียบกับเรื่องที่เลือก หากไม่แน่ใจอาจร่วมมือกับบุคคลอื่นที่มีความรู้ความสามารถในการวิจัย  หรือ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้ได้งานวิจัยที่มีคุณภาพ
                3.  สาระและความสำคัญของปัญหาการวิจัย  ผู้วิจัยต้องแน่ใจว่า เรื่องที่ทำวิจัยนั้น เป็นปัญหาที่มีสาระสำคัญในปัจจุบัน  กล่าวคือ ผลการวิจัยมีคุณค่าหรือประโยชน์ต่อสังคมต่อหน่วยงาน หรือสร้างคุณค่าในเชิงวิชาการหรือไม่เพียงใด ผลการวิจัยจะสามารถลดความเสี่ยงในการตัดสินใจทางธุรกิจได้หรือไม่
                4.  ความทันสมัยและน่าสนใจ  หัวข้อการวิจัยที่ดีควรเป็นหัวข้อที่กำลังได้รับความสนใจจากหน่วยงานหรือจากบุคคลทั่วไป  เช่น หัวข้อที่กำลังจะทำนั้น  คำตอบที่ได้สามารถนำไปแก้ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น  ตัวอย่าง  ระบบบริหารโลจิสติกส์ของไทยภายหลังวิกฤตอุทกภัย หรือการออกแบบระบบการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานภาครัฐเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย เป็นต้น การพิจารณาว่าเรื่องใดอยู่ในความสนใจหรือไม่ ผู้วิจัยต้องอ่านต้องค้นคว้า รับฟังข่าวสาร ทันโลกทันเหตุการณ์อยู่เสมอจึงจะหาหัวข้อวิจัยที่ทันสมัยและน่าสนใจได้
                5.  ความสามารถในการดำเนินงานให้เสร็จสมบูรณ์ตามเวลาที่กำหนด  การวิจัยทุกเรื่องต้องอาศัยงบประมาณและกำหนดเวลาในการดำเนินงาน  ดังนั้น ผู้วิจัยจึงต้องคำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการวิจัย  และงบประมาณที่กำหนดไว้ให้สอดคล้องกัน  เพราะถ้ายืดเวลาออกไปงบประมาณก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย  ผู้วิจัยจึงต้องใช้ความสามารถในการดำเนินงานให้ทันตามกำหนด  บางครั้งข้อมูลที่ล่าช้าอาจทำให้ล้าสมัยขาดความเชื่อถือได้ไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาทางธุรกิจได้

                ข้อผิดพลาดในการเลือกปัญหาการวิจัย
1.   ขาดการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องที่ตนสนใจจากเอกสารและสื่อชนิดอื่นๆ ทำให้ขาด
ความรู้ทั้งในด้านระเบียบวิธีวิจัยและความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่วิจัย การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอจะเป็นแนวทางในการวิจัยได้ชัดเจน
2.  มีเวลาจำกัด การวิจัยมักจะถูกกำหนดด้วยกรอบเวลาที่จำกัด เช่น การวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาจะต้อดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด อาจส่งหัวข้อไปโดยไม่ใช่เรื่องที่ตนเองถนัด หรืออาจจะต้องเร่งรีบดำเนินการโดยละเลยการศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ ทำให้การวิจัยนั้นไม่ตอบปัญหาอย่างชัดเจน
3.    กำหนดปัญหาไว้กว้างเกินไป ทำให้ไม่สอดคล้องกับเวลาและงบประมาณ
4.    การเลือกปัญหาโดยขาดการวางแผนอย่างรอบคอบ จะส่งผลถึงการดำเนินการวิจัยที่
ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากการวิจัยจะต้องมีการวางแผนการดำเนินการเป็นขั้นตอนอย่างรอบคอบ
5.    ไม่สามารถหาข้อมูลมาทดสอบได้ เนื่องจากกำหนดปัญหาไว้ไม่ชัดเจน ไม่ทราบว่า
เป็นปัญหาของใคร ปัญหาเกี่ยวกับอะไร เกิดขึ้นที่ไหน เก็บข้อมูลอย่างไร เก็บกับใคร เก็บข้อมูลเกี่ยวกับอะไร ถ้าไม่ทราบจะไม่สามารถหาข้อมูลมาทดสอบได้

การกำหนดประเด็นปัญหาในการวิจัยธุรกิจ

                การกำหนดปัญหาในการวิจัย คือ การค้นหาปัญหาหรือประเด็นปัญหา ที่ต้องการทำต่อไป โดยการวิเคราะห์สภาพต่างๆ ของปัญหาแล้วสังเคราะห์เพื่อให้ได้ประเด็นของปัญหาอันจะนำไปสู่การกำหนดหัวข้อวิจัยหรือหัวเรื่องต่อไป  การวิจัยที่ดีจะต้องเริ่มต้นด้วยปัญหาหรือ คำถามเสมอ เพราะการวางแผนในแต่ละขั้นตอนขึ้นอยู่กับคำถามในการวิจัย  คำถามวิจัยที่ดีควรกำหนดและให้นิยามปัญหาอย่างชัดเจน  การนิยามปัญหา  หมายถึง  การอธิบายปัญหาที่จะทำการวิจัยให้ชัดเจน  โดยเริ่มจากการตั้งชื่อเรื่อง และองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจปัญหาการวิจัยนั้นชัดเจนยิ่งขึ้นเพราะปัญหาที่ได้นิยามไว้อย่างดีจะช่วยนำไปสู่การกำหนดวัตถุประสงค์ สมมติฐาน  นิยามของตัวแปรที่สำคัญๆ และการเลือกที่จะวัดตัวแปรเหล่านี้ด้วย  ดังนั้น  การกำหนดปัญหาวิจัยที่ดี และน่าสนใจจึงเป็นส่วนสำคัญ ให้เกิดงานวิจัยที่มีคุณภาพดี คำถามในการวิจัยประกอบด้วย คำถามหลัก (Primary research question)  เพียงคำถามเดียวเป็นคำถามที่ผู้วิจัยสนใจมากที่สุด ซึ่งต้องตั้งอย่างระมัดระวังเพราะการกำหนดขนาดตัวอย่าง จะขึ้นอยู่กับคำถามหลัก นอกจากนี้จะต้องมีคำถามรอง (Secondary research questions)  อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็คือการกำหนดกรอบของการวิจัยนั้นเอง  หลังจากนี้จะเป็นความเป็นมาของปัญหาหรือภูมิหลังของการวิจัย  ซึ่งต้องเขียนให้ตรงประเด็น มีข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้  การเขียนภูมิหลังของการวิจัยจะต้องเขียนจากวงกว้างไปสู่ปัญหาในวงแคบ การเขียนภูมิหลัง จึงเป็นการอธิบายที่มาของการวิจัยนั่นเอง
                ตัวอย่าง : การกำหนดประเด็นปัญหาในการวิจัย
                        ปัญหา คือ ผลิตภัณฑ์ A มียอดจำหน่ายลดลง
                        คำถามหลัก คือ มีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ A
                        คำถามรอง คือ
                                1.  ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ A อย่างไร
                                2.  ความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ A เป็นอย่างไร
                                3.  มีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ A

แนวทางการตั้งชื่อเรื่องการวิจัย

                การตั้งชื่อเรื่องที่จะวิจัยจะต้องตรงกับปัญหาที่ศึกษา  มีความเฉพาะเจาะจงใช้ภาษา กะทัดรัด ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนกับเรื่องอื่นๆ ที่มีผู้วิจัยมาแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางการตั้งชื่อโครงการวิจัยไว้ ดังนี้
                1.   เป็นชื่อเรื่องที่กะทัดรัดชัดเจนเข้าใจง่าย ครอบคลุมเนื้อหาสาระที่ทำการวิจัย
                2.   ให้ความหมายในการจูงใจ น่าสนใจ และตรงกับเนื้อเรื่องมากที่สุด
3.             สามารถให้ผู้อ่านมาค้นเรื่องราวที่จะทำการวิจัยได้อย่างใกล้เคียง 
การตั้งชื่อเรื่องการวิจัยอาจทำได้โดยนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเรื่องการ
วิจัย (เพ็ญแข แสงแก้ว.  2541) 
                1.  ตัวแปรสำคัญที่ใช้ในการวิจัย  เราอาจนำเอาประเด็นสำคัญซึ่งเป็นตัวแปรอิสระ  และตัวแปรตามมาเป็นส่วนประกอบของชื่อโครงการ  เช่น การพัฒนาศักยภาพของธุรกิจชุมชน
                ตัวแปรอิสระ คือ ธุรกิจชุมชน
                ตัวแปรตาม  คือ การพัฒนาศักยภาพ
                2.  ขอบเขตของการศึกษา  ถ้าต้องการระบุขอบเขตของการศึกษาให้ชัดเจนลงไปว่าต้องการศึกษาเฉพาะประชากรกลุ่มใด  เพื่อให้หัวข้อวิจัยมีความชัดเจนยิ่งขึ้น  ก็อาจนำประชากรเป้าหมายมาเป็นส่วนประกอบของชื่อเรื่องได้ ได้  เช่น  การพัฒนาศักยภาพของธุรกิจชุมชนในจังหวัดอุดรธานีประชากรเป้าหมาย คือ ธุรกิจชุมชนของจังหวัดอุดรธานี
                3.  ลักษณะที่มาของข้อมูล  บางครั้งผู้วิจัยอาจต้องการให้ผู้อ่านทราบชัดเจนว่า  การวิจัยของเรามีที่มาอย่างไร  หรือใช้วิธีเก็บข้อมูลแบบใด เช่น การวิจัยเชิงทดลองเกี่ยวกับการสร้างจิตสำนึก ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน  ผู้อ่านทราบได้ทันทีว่าการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง
                4.  สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย  บางครั้งผู้วิจัยอาจระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการวิจัยสาขาใด  เนื่องจากอาจมีโครงการที่มีชื่อเหมือนกัน  แต่มีประเด็นและวิธีการศึกษาต่างกัน ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้วิจัย
                จะเห็นว่าการตั้งชื่อมีความสำคัญกับการวิจัยไม่น้อย เนื่องจากชื่อเรื่องการวิจัยเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นผลงานวิจัยในหลายๆ ประเด็น  เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับขอบเขตของการวิจัย  ตัวแปรที่ศึกษา  วิธีการศึกษา  การเก็บรวบรวมข้อมูล  และสาขาวิชาที่ศึกษา  ดังนั้นควรให้ความสนใจและพิจารณาตั้งชื่ออย่างรอบคอบและควรคำนึกถึงหลักการตั้งชื่อในกรณีต่างๆ ประกอบด้วย  เช่น  ไม่ควรมีสัญลักษณ์ตัวย่อ  ไม่ตั้งชื่อโครงการวิจัยเป็นประโยคคำถาม  ไม่ตั้งชื่อเรื่องการวิจัยโดยใช้คำยาก  คำกำกวม หลีกเลี่ยงคำทับศัพท์  ภาษาพื้นบ้านหรือภาษาถิ่น  และที่สำคัญ สั้นกะทัดรัด ชัดเจน สื่อความหมายได้ตรงประเด็น ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องการวิจัยจะต้อง
1.             สื่อความหมายว่า ใคร? ทำอะไร? ที่ใด?
2.             เขียนเป็นประโยคบอกเล่าให้กระชับ
3.             แสดงความเป็นกลาง
4.             เน้นปรากฏการณ์ที่ศึกษาเป็นสำคัญ
 
 กระบวนการวิจัย
                การวิจัยเป็นกิจกรรมค้นหาความรู้ความจริงอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้แนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ที่ผู้วิจัยใช้เป็นหลักในการดำเนินการวิจัย ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ของกระบวนการวิจัยจะเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ ดังแผนภูมิ
 
แผนภูมิแสดงขั้นตอนการวิจัยธุรกิจ

                ขั้นที่ 1 การกำหนดประเด็นปัญหาของการวิจัย (Problem) กำหนดจากแนวคิดทฤษฎี การสรุปอ้างอิงจากงานวิจัยหรือจากประสบการณ์ของผู้วิจัย และจากแหล่งทุน ซึ่งการเลือกหัวข้อปัญหาที่จะทำการวิจัย เป็นขั้นตอนแรกที่ผู้วิจัยจะต้องตกลงใจว่าจะวิจัยเรื่องอะไร การเลือกหัวข้อปัญหาต้องทำด้วยความรอบคอบและเชื่อมั่นพร้อมทั้งเขียนชื่อเรื่องที่จะวิจัยออกมาให้ได้
                ขั้นที่ 2 การกำหนดวัตถุประสงค์ในการวิจัย เป็นการกำหนดประเด็นปัญหาที่วิจัยว่าจะศึกษาอะไร มีขอบเขตครอบคลุมเรื่องใด ปัญหาที่สนใจและต้องการคำตอบคืออะไร และทำการแยกแยะแจกแจงรายละเอียดของหัวข้อหรือประเด็นที่จะศึกษาออกเป็นข้อๆ การเขียนวัตถุประสงค์การวิจัยจะช่วยทำให้ผู้วิจัยพบความชัดเจน เกี่ยวกับประเด็นที่ตนกำลังศึกษา จากวัตถุประสงค์ จะทำให้ ผู้วิจัยทราบว่า การวิจัยนี้ต้องการใช้ข้อมูลอะไรบ้าง และการวิเคราะห์ปัญหาผู้วิจัยมาจากการวิเคราะห์หาคำตอบตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ได้หรือไม่
                ขั้นที่ 3 การทบทวนวรรณกรรมและสร้างกรอบแนวความคิดหรือตั้งสมมุติฐานการวิจัย  การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นการทบทวนวรรณกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัย จะช่วยให้ผู้วิจัยทราบว่ามีผู้ใดเคยทำการวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยที่กำลังจะทำอยู่บ้าง ทำให้ทราบแนวคิดทฤษฏีเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังวิจัยเพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย และตั้งสมมติฐานการวิจัยต่อไป นอกจากนี้ ยังทำให้ทราบถึงวิธีวิจัยของผู้อื่น ทราบวิธีการแปลผลตลอดจนปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการวิจัย
                การสร้างกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) หมายถึง แนวคิดของผู้วิจัยเกี่ยวกับตัวแปรต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเหล่านั้น ในการวิจัยเชิงอธิบาย (Explanatory Research) แต่ถ้าเป็นการวิจัยเชิงพรรณนา  (Descriptive Research) กรอบแนวคิดจะหมายถึง แนวคิดของผู้วิจัยเกี่ยวกับตัวแปรหรือคุณลักษณะต่างๆ ที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา กรอบแนวความคิดที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมต่างๆ จะทำให้ผู้วิจัยสามารถสร้างกรอบแนวความคิดหรือตั้งสมมุติฐาน (Hypothesis) เป็นการคาดเดาคำตอบไว้ล่วงหน้า เพื่อบอกทิศทางการวิจัยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ช่วยให้ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลได้ตรงเป้าหมายและสะดวกยิ่งขึ้น
                ขั้นที่ 4 การออกแบบการวิจัย (Research Design) คือ การวางโครงสร้างและแนวทางในการดำเนินการวิจัยเพื่อให้ตอบปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วางแผนการสุ่มตัวอย่าง การเก็บรวบรวมข้อมูล การดำเนินกรรมวิธีทางข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ฉะนั้นการออกแบบการวิจัยจึงมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับการวางแผนการวิจัยซึ่งหมายถึงการออกแบบการวิจัยเป็นการวางกรอบการวิจัย ส่วนการวางแผนการวิจัยเป็นการวางรายละเอียดภายใต้กรอบการวิจัยขั้นตอนนี้อาจเรียกว่า การเขียนโครงการวิจัย
                ขั้นที่ 5 การกำหนดการวัดค่าตัวแปร การกำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยจะต้องสามารถออกแบบการวัด เพื่อวัดค่าตัวแปร และควบคุมตัวแปรได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนจะต้องสามารถออกแบบการใช้สถิติ เพื่อเลือกใช้สถิติ และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งผู้วิจัยต้องกำหนดประชากรเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนทำการวางแผนสุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากร เป็นขั้นตอนที่ต้องมีความรัดกุมเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างจะถูกนำไปอ้างอิงถึงประชากรทั้งหมดรวมทั้งความถูกต้องย่อมขึ้นอยู่กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากร
                ขั้นที่ 6 การสร้างเครื่องมือและเก็บรวบรวมข้อมูล  การสร้างเครื่องมือสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล  จะต้องศึกษาวิธีการสร้างเครื่องมือ ธรรมชาติของการวิจัยแต่ละประเภทและโครงสร้างของสิ่งที่วัด การเขียนข้อความหรือคำถามต่างๆ การให้ผู้เชี่ยวชาญทำการแก้ไข การทดลองและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ การปรับปรุงเป็นเครื่องมือฉบับจริง นอกจากนี้ผู้วิจัยไม่จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูลเสมอไป ถ้าทราบว่ามีเครื่องมืออยู่แล้วและเหมาะสมที่จะนำไปใช้ อาจนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ได้ แต่ต้องทำการทดสอบความเชื่อมั่นก่อน เพราะเครื่องมือที่ใช้อาจล้าสมัยจึงจำเป็นต้องตรวจสอบอีกครั้ง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการหรือเทคนิคต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแบบของการวิจัยซึ่งอาจเป็นแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์  แบบสังเกต กรณีเป็นการวิจัยเชิงทดลอง จะทำการทดลองสังเกตและวัดผลด้วย
                ขั้นที่ 7 การวิเคราะห์ข้อมูล คือ การนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้มาจัดกระทำเป็นการตรวจสอบความถูกต้อง บันทึกข้อมูลเข้าตามระบบการวิเคราะห์ด้วยสถิติ การทดสอบสมมุติฐาน หรือนำมาวิเคราะห์ตามทฤษฎีต่างๆ อาจวิเคราะห์ด้วยมือหรือด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป เช่น SPSS for windows เป็นต้น
                ขั้นที่ 8 การแปลความหมายหรือตีความการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยนำผลที่ได้มาตีความหรือแปลความหมาย ซึ่งอาจใช้เกณฑ์หรือมาตรฐานคือการตั้งเกณฑ์นำผลการวิเคราะห์ที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เช่น การวิจัยเรื่องหนึ่งอาจกำหนดค่าเฉลี่ย () โดยตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 4.51-5.00 ดีที่สุด 3.51-4.50 ดี 2.51-3.50 พอใช้ 1.51-2.50 ควรปรับปรุงและต่ำกว่า 1.51 ต้องปรับปรุงอย่างยิ่ง ถ้าวิเคราะห์ข้อมูลได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.42 นำค่าที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์ปรากฏว่าตกอยู่ในช่วง 2.51-3.50 ดังนั้นจึงตีความได้ว่า พอใช้ เป็นต้น
                ขั้นที่ 9 การสรุปผลและเขียนรายงาน การสรุปผล (Conclusion) เป็นการประมวลผลการวิจัยในภาพรวมทั้งหมดโดยสรุปที่แสดงให้เห็นข้อค้นพบพร้อมการอภิปรายผลการเปรียบเทียบกับผลการวิจัยหรือทฤษฎีต่างๆ เพื่อให้การวิจัยมีน้ำหนักและเชื่อถือได้ และเขียนรายงานการวิจัย พิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิจัย ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายของการวิจัย ผู้วิจัยต้องเขียนรายงานตามรูปแบบของการเขียนรายงานการวิจัยประเภทนั้นๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน เพื่อเสนอให้ผู้อื่นได้ศึกษาต่อไป
                ขั้นตอนการวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นอาจไม่ครอบคลุมการวิจัยประเภทต่างๆ ได้ทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น การวิจัยบางประเภทอาจข้ามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งทั้งนี้อยู่ที่ลักษณะของการวิจัยประเภทนั้นๆ 

บรรณานุกรม
กลุ่มงานฝึกอบรมการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.).  2547.  ตำราชุดฝึกอบรม
         หลักสูตร“นักวิจัย”.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.). 
กิตติพันธ์  คงสวัสดิ์เกียรติ, ไกรชิต  สุตะเมือง, เฉลิมพร  เย็นเยือก, และเรวดี  อันนันนับ.  2552.   
         ระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจ.  กรุงเทพฯ: เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น.
นราศรี  ไววนิชกุล และ ชูศักดิ์  อุดมศรี.  2551.  ระเบียบวิธีวิจัยธุรกิจ.  พิมพ์ครั้งที่ 18.  กรุงเทพฯ:
         จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์.  2547.  ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์.  พิมพ์ครั้งที่ 8.  กรุงเทพฯ : ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
ปัญญา  ธีระวิทยเลิศ.  2547. ปฏิบัติการวิจัย.  กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. 
พรทิพย์  อุดมสิน และ บุญศรีพรหมาพันธุ์.  2550.  ความรู้พื้นฐานในการวิจัย.” ใน  เอกสารการสอนชุดวิชาการวิจัยเบื้องต้นทางสารสนเทศศาสตร์.   หน่วยที่ 1.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  นนทบุรี: สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
พวงรัตน์  ทวีรัตน์.  2543.  วิธีวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์.  พิมพ์ครั้งที่  8.  กรุงเทพฯ: สำนักนักงานทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา.  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร. 
พิชิต  ฤทธ์จรูญ.  2544.  การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ : ปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน.  กรุงเทพฯ: สถาบันราชภัฏพระนคร.
เพ็ญแข  แสงแก้ว.  2541.  การวิจัยทางสังคมศาสตร์.  ปทุมธานี: ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มนสิช  สิทธิสมบูรณ์.  2547.   ระเบียบวิธีวิจัย.  พิษณุโลก:  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.
ยุทธพงษ์  ไกรวรรณ์.   2545. พื้นฐานการวิจัย ฉบับปรับปรุงใหม่.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.
ลัดดาวัลย์  เพชรโรจน์ และ อัจฉรา  ชำนิประศาสตร์.  2547.  ระเบียบวิธีการวิจัย.  กรุงเทพฯ: พิมพ์ดีการพิมพ์.
วัชราภรณ์  สุริยาภิวัฒน์.  2546.  วิจัยธุรกิจยุคใหม่.  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สิน  พันธุ์พินิจ.  2547.  เทคนิคการวิจัยทางสังคมศาสตร์.  กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์.
สุชาติ  ประสิทธิ์รัฐสินธุ์.  2546.  ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์.  พิมพ์ครั้งที่ 12.  กรุงเทพฯ : สามลดา.
สุรางค์ จันทวานิช.  2543.  วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ.  พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุวิมล  ติรกานันท์.  2548.  ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ : แนวทางสู่การปฏิบัติ.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ: จุลาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี  อ่อนสวัสดิ์.  2551.  ระเบียบวิธีวิจัย.  พิษณุโลก: ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.
Babbie, Earl R.  1986. The Practice of Social Research.  4th ed.  Belmont: Wadsworth.
Besic Business Research.  2011.  [Online] : Search on  November 29, 2011. Available form 
          : http://managementhelp.org/businessresearch/index.php.
Greener, S.  2008.  Business Research Method.  London: London Business School.   
           [Online]  : Search on  November 29, 2011. Available form :   
           http://bookboon.com/en/textbooks/marketing-media/introduction-to-research-
           methods.
Wimmer, Roger. D. and Dominick, Joseph R.  1987.  Mass Media Research an 
           Introduction. 2nd ed. Belmont: Wadsworth Publishing.
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น